ค้นหาบล็อกนี้

วิธีพิทักษ์ รักษ์โลกของเรา

"เราทำได้ คุณก็ทำได้"
ลดปริมาณขยะ
ลดการใช้พลังงาน
เพิ่มอ๊อกซิเจนให้กับน้ำ
รักษาพันธุ์สัตว์ป่า

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

'โซลาร์ ฟาร์ม’ ขุมทรัพย์ใหม่ในตลาดพลังงานไทย

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องของพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องการนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า และพลังงานที่น่าจับตามมองที่สุดในตอนนี้ก็คงเป็น ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ เพราะหากพิจารณาดูแล้วก็เรียกว่าเป็นพลังงานที่เกื้อกูลธรรมชาติแทบจะที่สุด

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าร์ ฟาร์ม จึงค่อยๆ ผุดราวดอกเห็ดไปทั่วทุกทวีป ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่ดูเหมาะเจาะไปเสียหมดทั้งเรื่องแสงอาทิตย์อัดเจิดจ้าในยามกลางวัน และภูมิทัศน์แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เอื้อกับโรงไฟฟ้าประเภทนี้อย่างยิ่ง ด้านนโยบายพลังงานของไทยเองก็สนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกด้วยการให้เงินอุดหนุน บวกกับนโยบายที่ให้การไฟฟ้าฯ รับซื้อพลังงานอย่างไม่จำกัด

ซึ่งในปัจจุบันมีเอกชนที่เสนอขายไฟฟ้าต่อ กฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) แล้วกว่า 5,051.0 เมกะวัตต์ ในขณะที่เป้าหมายตามที่รัฐกำหนดไว้ในปี 2565 อยู่ที่ 5,604.0 เมกะวัตต์

นักลงทุนภาคเอกชนเองจึงมองเห็นขุมทรัพย์ในตลาดพลังงาน คลอดโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก อาทิ โครงการโซลาร์ฟาร์ม โคราช 1 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่สุดในอาเซียน ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ที่ทุ่มทุนกว่า 700 ล้าน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ร่วม 3 หมื่นแผง มีกำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ และเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ เมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมา โดยโกยรายเฉลี่ยวันละกว่า 4.3 แสนบาท ฯลฯ

อีกหนึ่งโครงการยักษ์ที่ไม่เอ่ยถึงคงจะไม่ได้ โครงการลพบุรี โซล่าร์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กำลังผลิต 73 เมกะวัตต์ ในจังหวัดลพบุรี ของบริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ที่มีมูลค่ากว่า8,000 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนว่าสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างก็ให้ความเชื่อมั่นในธุรกิจพลังงานประเภทนี้อยู่ไม่น้อย เพราะเดินหน้าสนับสนุนวงเงินกู้อย่างเต็มกำลังเช่นกัน

โซล่าร์ ฟาร์ม ในต่างแดน

ดวงอาทิตย์นั้นเป็นแหล่งรวมความร้อนขนาดมหึมา แม้จะอยู่ไกลนับล้านๆ กิโลเมตรก็ยังสัมผัสได้ถึง จึงไม่แปลกที่บรรดานักวิทยาศาสตร์หัวใส ต่างก็หวังจะนำพลังงานตรงนี้มาแปรสภาพเป็นกระแสไฟฟ้า ถึงแม้พลังงานชนิดนี้จะให้ผลที่ดีเกินคาด แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสำคัญอย่างเรื่องต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูงได้



อย่างไรก็ตาม หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้นโดยเฉพาะ 3 ประเทศมหาอำนาจอย่าง สเปน เยอรมนี และจีน ที่ดูจะจริงจังและเริ่มต่อยอดกับเรื่องนี้มากที่สุด ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 สเปนก็ได้เปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โรงไฟฟ้าเยมาโซลาร์ ที่สามารถผลิตไฟฟ้าในเวลากลางคืนเป็นแห่งแรกของโลก โดยใช้ระบบผลิตไฟฟ้าแบบหอพลังงาน ติดตั้งแผงพีวีเป็นแนวทรงกลมรวม 2,650 แผง ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,156 ไร่ โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 110 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ใน 25,000 ครัวเรือน

เช่นเดียวกับที่เยอรมนีก็มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งอยู่ในเมืองอาร์นสตีน ซึ่งอยู่ในหุบเขาและผลิตกระแสไฟฟ้าในลักษณะฟาร์มไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 12 เมกะวัตต์ สามารถป้อนไฟฟ้าหล่อเลี้ยงประชากรได้สูงถึง 900,000 คนเลยทีเดียว

หรือที่จีนมีโครงการจะสร้างโรงงานที่เมืองตงหวง มณฑลกานซู ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 31,000 ตารางเมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 100 เมกะวัตต์ โดยทุ่มเงินมากกว่า 30,640 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างเป็นเวลา 5 ปี โดยแว่วข่าวมาว่ารัฐบาลจีนจะใช้โรงไฟฟ้าตัวนี้เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าที่จะผลิตต่อไปทั่วประเทศ และต่อไปก็จะขยายธุรกิจด้วยการพลังงานไฟฟ้าไปยังต่างประเทศอีกด้วย

ความน่าจะเป็นในประเทศไทย

เมื่อหันกลับมามองทิศทางของพลังงานทดแทนชนิดนี้ในประเทศไทยก็ดูเหมือนว่าจะมีการตอบรับที่ดีไม่น้อย ทั้งภาครัฐก็มีนโยบายอุดหนุนพลังงานอย่างต่อเนื่อง ภาคประชาชนเองก็ไม่ได้มีการคัดค้านต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สุดท้ายรูปธรรมที่จับต้องได้ของมันก็กลายเป็นการร่วมทุนในภาคเอกชน

ดร. เดชรัตน์ สุขกําเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น อย่างแรกคือมีความเหมาะสมทางด้านทรัพยากร แม้ดวงอาทิตย์ไม่ได้มีแสงสว่างตลอดเวลา แต่ก็ถือว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับหนึ่ง

ด้านแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (Power Development Plan : PDP2010) ก็มีการกำหนดสัดส่วนของพลังงานทดแทนไว้ที่ร้อยละ 8.0 ซึ่งก็เอื้อให้กับธุรกิจพลังงานประเภทนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการลงทุนในเรื่องของพลังงานทดแทนก็ส่งผลให้ภาครัฐเกิดการชะลอตัวในการสร้างโรงไฟฟ้าไปได้ระยะหนึ่ง






“ตอนนี้พลังงานหมุนเวียนจะทำให้เขาลดการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าไปได้จำนวนหนึ่ง ถ้าถามว่าไม่มีพลังงานทดแทนแล้วเรายังเดินหน้าต่อได้ไหม...ได้ครับ พลังงานเราเพียงพอ ไม่ได้ขาด แต่ว่าการมีพลังงานทดแทนมันลดความจำเป็นในการสร้างเพิ่มขึ้น”

ทิศทางของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้นตลอด ด้านกระทรวงพลังงานเองก็สนับสนุนเงินทดแทน นโยบายของรัฐบาลเองก็พร้อมรับซื้อพลังงานจากเอกชนทั้งหมด ทิศทางของพลังงานชนิดนี้คงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หากรัฐบาลยังให้การสนับสนุนต่อภาคธุรกิจที่เข้ามาลงทุนทางด้านพลังงาน

ทั้งนี้ ดร. เดชรัตน์ ทิ้งท้ายในเรื่องแผนยุทธศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีว่า ควรกำหนดข้อตกลงการซื้อขายพลังงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมายังมีความหละหลวมกลายเป็นช่องทางฉกฉวยประโยชน์ต่อธุรกิจพลังงานของเอกชน อาทิ การออกใบอนุญาตซื้อขายพลังงาน แต่ถ้าเอกชนไม่สามารถทำตามสัญญาได้ก็ไม่ต้องถูกดำเนินการอะไร เพียงแต่ต้องแจ้งให้รัฐทราบล่วงหน้าเท่านั้น

ด้านสถาบันการเงินรายใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย ก็ร่วมเป็นหัวหอกในการปล่อยกู้เพื่อลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ นพเดช กรรณสูต ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจลูกค้าบรรษัท ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงปัจจัยทางด้านความเชื่อมั่นในการคืนทุนของธุรกิจพลังงานทดแทนว่า

“เรามองถึงการจัดโครงสร้างธุรกิจก่อน อย่างโครงสร้างของพลังงานแสงอาทิตย์มันมีส่วนประกอบที่สำคัญในเกณฑ์พิจารณาการปล่อยกู้ ไม่ว่าจะเป็น หนึ่ง-การพิจารณาทางด้านผู้ลงทุนก่อน เราจะต้องดูก่อนว่าผู้ลงทุนเองมีความตั้งใจในการลงทุนมากน้อยแค่ไหน และในส่วนของทักษะความเข้าใจเรื่องของธุรกิจ แล้วก็พิจารณาเรื่องความพร้อมของแหล่งเงินทุนมากแค่ไหน สอง-พิจารณาว่าเคยมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในต่างประเทศมาก่อนรึเปล่า หรือดูว่ามีการทำสัญญาการซื้อขายไฟกับภาครัฐไหม กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือเปล่า สุดท้ายคือดูว่าคนที่มารับเหมาก่อสร้างโครงการมีความเชื่อถือได้แค่ไหน ซึ่งทุกข้อมันอยู่ในมาตรฐานสากลอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้เราก็มีความสามารถมั่นใจได้ว่าธุรกิจพลังงานฯ สามารถที่จะคืนทุนได้”

แสงอาทิตย์ พลังงานทดแทนที่มาพร้อมเงิน

“คนทั่วไปในระดับประชาชนของประเทศเรายังไม่ตื่นตัวด้านพลังงานทางเลือก ซึ่งก็มีอยู่บ้างแต่ไม่มาก ประเด็นต่อมาถ้าเป็นในระดับผู้ประกอบการนั้นก็ตื่นตัวเพราะอยากได้ตังค์ การทำระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อขายไฟฟ้านั้น เรื่องนี้เขาทำกันมานานแล้วเป็นการทำเพื่อกำไร เขาไม่ได้มองเรื่องของพลังงานสะอาดเป็นอย่างแรกแต่มองเรื่องผลกำไรมากกว่า”

นันท์ ภักดี ตัวแทนจากอาศรมพลังงาน (สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม) กล่าวถึงอีกแง่มุมของการพลังงานทางเลือกเรื่องพลังงานทางเลือกในประเทศไทย ทั้งนี้ยังโต้แย้งถึงเรื่องค่าใช้จ่ายของระบบพลังงานแสงอาทิตย์ว่า แท้จริงแล้วไม่ได้สูงอย่างที่ทราบกัน

“ตอนนี้ที่จีนนั้น อุปกรณ์ในการนำมาใช้ทำระบบ ขายกันอยู่ที่วัตต์ละเหรียญหรือประมาณ 30 กว่าบาท แต่ในบ้านเราอุปกรณ์พวกนี้ขายกันวัตต์ละเป็นร้อยเลย ต่างกัน 3 เท่า เรี่องแบบนี้มันมีความซับซ้อนอยู่สูงเสียจนเราไม่สนใจมันด้วย”

นันท์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าทุกคนถูกหล่อหลอมว่าจะต้องทำไฟขายให้กับการไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งการไฟฟ้าก็เอาไปขายให้กับครัวเรือนอยู่ดี ดังนั้นมันก็แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนสามารถทำไฟใช้เองได้ แต่ไม่มีใครพูดเพราะสังคมไทยมองเรื่องผลประโยชน์เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามหากมองในภาพรวมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นถือเป็นเรื่องที่ดี ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขามูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นเป็นพลังงานที่สะอาดซึ่งมนุษย์ได้รับมาฟรีๆ แต่กลับยังไม่ได้นำมาใช้งานอย่างเต็มที่ และยังขาดการบริหารจัดการที่ดีพอของการใช้พลังงานหมุนเวียน เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นภาพใหญ่ ไม่ควรมองเฉพาะแค่พลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น

“พลังงานแสงอาทิตย์นั้นน่าใช้อยู่แล้วแต่มันก็มีข้อจำกัดอะไรหลายๆ อย่างในตัวมันเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะมองแยกส่วนไปเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ต้องมองเป็นภาพใหญ่ พิจารณาดูว่าศักยภาพของพื้นที่ที่เราตั้งอยู่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานประเภทไหน อย่างบ้านเรามีแสงแดดมาก มีชีวมวล ซึ่งสามารถนำมาแปลงเป็นพลังงาน แต่ก็ต้องมาดูว่าจะมีวิธีจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”

ดร.สรณรัชฎ์ทิ้งท้ายว่า การใช้พลังงานธรรมชาตินั้น ประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิต โดยภาครัฐจะต้องมีการผลักดันในเชิงเศรษฐกิจเพื่อจูงใจและส่งเสริมให้ประชาชนหันมาผลิตและใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น

“อย่างที่สเปนมีเป็นกฎหมายเลยว่าทุกบ้านจะต้องมีแผงโซล่าเซลล์ซึ่งการที่จะออกมาเป็นกฎหมายได้ก็ต้องมีการไปคิดระบบเศรษฐกิจที่จะมาสร้างแรงจูงใจและมาช่วยเหลือคนได้”



ก็ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วทิศทางของพลังงานทดแทนจะเพียงพอต่อความต้องการของมวลมนุษยชาติหรือไม่ แต่ถ้ามองภาพปัจจุบันการลงทุนในเรื่องพลังงานทดแทนผ่านโรงงานพลังแสงอาทิตย์ในเมืองไทยนั้น ได้กลายเป็นขุมทรัพย์ให้เหล่าภาคเอกชนเข้ามาลงทุนกันได้อย่างเสรีไปเรียบร้อยแล้ว...

ที่มา>>http://green.in.th/node/2566

กรมชลประทาน ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ จัดสัมมนาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน

กรมชลประทานร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ จัดสัมมนาครั้งใหญ่ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำยม-น่านให้เห็นผลเป็นรูปธรรม หวังได้แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำในระยะเร่งด่วน พร้อมกำหนดทิศทางดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นระบบ
นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะได้ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งเกิดจากการที่ประเทศไทยมีฝนตกหนักจากพายุนกเต็นมีผลทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่นั้น ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่11 สิงหาคม และ 16 สิงหาคม 2554 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัยซ้ำซากและการบริหารจัดการลุ่มน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้เร่งศึกษาทบทวนโครงการที่สามารถดำเนินการได้ในระยะเร่งด่วน


กรมชลประทานจึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลในด้านต่างๆ ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน รวมทั้งประชาชนที่ร่วมสัมมนากว่า 400 คน ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบันของทั้งสองลุ่มน้ำ อาทิ สภาพปัญหา โครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆที่กรมชลประทานได้ดำเนินการในระยะที่ผ่านมา ตลอดจนแผนงานยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน รวมทั้งรับทราบความต้องการและปัญหาต่างๆของทั้ง 2 ลุ่มน้ำ เพื่อกำหนดทิศทางร่วมกันในการพัฒนาลุ่มน้ำยม-น่านที่ถูกต้องและเหมาะสม และร่วมกำหนดแผนงานการพัฒนาและบริหารจัดการในระยะเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำ
สำหรับลุ่มน้ำยม มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาผีปันน้ำ อำเภอปง จังหวัดพะเยา ไหลผ่านจังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร แล้วไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่จังหวัดนครสวรรค์ รวมความยาวตลอดลำน้ำประมาณ 735 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมด 23,616 ตารางกิโลเมตร มีลุ่มน้ำย่อย 11 ลุ่มน้ำ คือแม่น้ำยมตอนบน แม่น้ำควร น้ำปี้ แม่น้ำงาว แม่น้ำยมตอนกลาง แม่คำมี แม่ต้า ห้วยแม่สิน แม่มอก แม่รำพัน และแม่น้ำยมตอนล่าง
อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะของลำน้ำยมที่เป็นคอขวดและไหลคดเคี้ยวไปมา รวมทั้งมีสภาพตื้นเขิน ทำให้การระบายน้ำไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะในช่วงตอนปลายของลุ่มน้ำ เมื่อมีฝนตกหนักจึงทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากสร้างความเสียหายอย่างมากแทบทุกปี ในขณะเดียวกันพอถึงฤดูแล้งก็จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน ปัจจุบันในพื้นที่ลุ่มน้ำยมมีการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยการก่อสร้างฝายปิดกั้นลำน้ำ และมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก แก้มลิงและโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเฉพาะในลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำยมเท่านั้น ซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำยมจนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 741 โครงการแต่สามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 406 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำท่าทั้งลุ่มน้ำที่มีมากถึง 4,100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ส่วนโครงการพัฒนาลุ่มน้ำยมนั้น ได้มีการศึกษาและวางแผนไว้ทั้งการพัฒนาโดยมาตรการไม่ใช้สิ่งปลูกสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำระบบเตือนภัย การปรับปรุงประสิทธิภาพการชลประทาน การผันน้ำหลาก การขุดลอกลำน้ำธรรมชาติ และการพัฒนาโดยมาตรการสิ่งก่อสร้าง เช่น ได้มีการพัฒนาพื้นที่รองรับน้ำและแก้มลิง 118 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร พัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดกลางจำนวนทั้งสิ้น 34 โครงการ สามารถเก็บน้ำได้ 348 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า ในส่วนของลุ่มน้ำน่านนั้นเป็นลุ่มน้ำที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือ มีพื้นที่ทั้งสิ้นรวม 34,908 ตารางกิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ประกอบด้วยลุ่มน้ำสาขา 16 ลุ่มน้ำ เช่น น้ำว้า น้ำปาด แม่วังทอง และแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุด เป็นต้น ที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเกิดขึ้นในลุ่มน้ำน่านค่อนข้างมาก แต่ยังขาดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำน่านตอนบนเหนือเขื่อนสิริกิติ์ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดน่านบ่อยครั้ง
ทั้งนี้ในปัจจุบันลุ่มน้ำน่านมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กรวมทั้งสิ้นกว่า 143 โครงการสามารถกักเก็บน้ำได้ 10,584 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นร้อยละ 87 ของปริมาณน้ำท่ารายปีทั้งลุ่มน้ำ
สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญๆของลุ่มน้ำน่าน เช่น เขื่อนสิริกิติ์ อำเภอท่าปลาจังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนนเรศวรซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำทางตอนล่าง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก ที่สามารถเก็บกักน้ำได้ 939ล้านลูกบาศก์เมตร และขณะนี้กรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยรี จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง สามารถเก็บน้ำได้ 73.7 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนั้นยังมีเขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ ดังนั้นปัญหาในเรื่องน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ในลุ่มน้ำน่านจึงไม่รุนแรงเหมือนลุ่มน้ำยมรวมทั้งยังสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
“การสัมมนาสัมมนาลุ่มน้ำยม-น่าน ในครั้งนี้กรมชลประทานหวังเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันหาแนวทางและดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นระบบ” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในตอนท้าย
>>>ที่มา http://www.rid.go.th/2009/index.php?option=com_content&view=article&catid=23%3A2009-12-21-08-25-31&id=753%3A2011-08-31-05-04-22&Itemid=54

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นักวิจัยไทยพัฒนาฉนวนกันความร้อนจากวัสดุการเกษตร

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สนับสนุนนักวิจัยไทยพัฒนาแผ่นฉนวนกันความร้อนจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร สำหรับบ้านพักอาศัยในเขตร้อนชื้น ที่ช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้านลงได้ถึง 3 องศาเซลเซียส รายละเอียดติดตามจากรายงาน
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นเปลือกมะพร้าวและชานอ้อย ขณะเดียวกันประเทศไทยเป็นเมืองร้อนชื้นมีอากาศที่ค่อนข้างร้อนตลอดทั้งปี เกิดการใช้พลังงานเพื่อปรับอุณหภูมิในที่พักอาศัยจำนวนมาก งานวิจัยแผ่นฉนวนกันความร้อนจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร สำหรับบ้านพักอาศัยในเขตร้อนชื้นของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พันธุดา พุฒิไพโรจน์ และคณะจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ โดยการสนับสนุนทุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. จึงริเริ่มขึ้นเพื่อแปรรูปเศษผลผลิตทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์มากกว่าของเหลือทั้ง และช่วยลดสภาวะโลกร้อนจากการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พันธุดา พุฒิไพโรจน์ นักวิจัยบอกว่า การวิจัยเพื่อพัฒนาแผ่นฉนวนกันจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ผลิตจากเปลือกมะพร้าวและชานอ้อยที่เหลือจากภาคการเกษตร ด้วยวิธีการอัดร้อนแบบไม่ใช้กาวเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสารพิษต่างๆ ต่อสภาพแวดล้อมและผู้ใช้งาน โดยพบว่า แผ่นฉนวนที่ผลิตขึ้นมีคุณสมบัติทางความร้อนใกล้เคียงกับฉนวนกันความร้อนทื่ใช้งานในบ้านเรือนปัจจุบัน สามารถลดอุณหภูมิอากาศเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ฉนวนได้สูงสุดถึง 3.3 องศาเซลเซียส
“งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแผ่นฉนวนกันความร้อนจากเปลือกมะพร้าวและชานอ้อยให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับฉนวนกันความร้อนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยหลีกเลี่ยงการใช้กาวที่มีสารพิษในการขึ้นรูปแผ่นฉนวน ซึ่งเราทดลองนำแผ่นฉนวนที่ทำจากเปลือกมะพร้าวและชานอ้อยมาใช้เป็นแผ่นผนังคอนกรีตสำเร็จรูปเพื่อลดการถ่ายเทความร้อน พบว่า สามารถลดความร้อนได้ไม่แตกต่างฉนวนที่ใช้งานดีที่สุดในปัจจุบัน ”
แผ่นฉนวนกันความร้อนจากเปลือกมะพร้าวและชานอ้อยที่ผลิตขึ้น ยังมีราคาถูกกว่าราคาฉนวนที่จำหน่ายในท้องตลาด ด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่ยุ่งยากและต้นทุนต่ำ จึงเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจ ตลอดจนมีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้
งานวิจัยการพัฒนาแผ่นฉนวนกันความร้อนจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร สำหรับบ้านพักอาศัยในเขตร้อนชื้น จะนำไปจัดแสดงให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมและศึกษาได้ ภายในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2554 ไทยแลนด์รีเสริช เอ๊กซ์โป 2011 ระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคมนี้ ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

>>ที่มา http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255408210136&tb=N255408&news_headline=รายงานพิเศษ : นักวิจัยไทยพัฒนาฉนวนกันความร้อนจากวัสดุการเกษตร

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พบรอยเท้ามนุษย์โบราณที่จ.พิษณุโลก!!


คณะทัวร์ป่าหน้าฝนของอุทยานภูหินร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ที่เดินทางสำรวจท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ ได้พบกับรอยเท้าบนหินก้อนใหญ่ ตามเส้นทางไปลานหินปุ่ม ตรงข้ามกับสะพานมรณะ จึงแจ้งให้นายศักดิ์ปรินทร์ สุรารักษ์ ผู้ช่วยอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เข้าตรวจสอบพร้อมแจ้งผู้สื่อข่าวไปพิสูจน์จุดรอยเท้าบนหินดังกล่าว

โดยพบว่าบริเวณดังกล่าวมีรอยเท้าขนาดเล็ก คาดว่าเป็นรอยเท้ามนุษย์โบราณ 1 รอย ฝังอยู่บนลานหินก้อนหนึ่ง บนเขาสูง กลางป่าดิบชื้นสมบูรณ์ เพราะดูจากสภาพแวดล้อม ก้อนหินทรายดังกล่าวปกคลุมด้วยมอสและเฟิร์น ห่างจากถนนลาดยาง ตรงข้ามสะพานมรณะ 700 เมตร

ลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏ คือ คล้านกับรอยเท้าคนข้างขวา ข้างเดียว เหมือนกับเหยียบย่ำบนพื้นโคลน แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯใช้มือสัมผัส ก็ต้องตกใจ เพราะมีร่องนิ้วครบทั้ง 5 นิ้ว ปรากฏชัดเจน หากเทียบเท้าของเจ้าหน้าที่ชายแล้ว คาดว่า เป็นรอยเท้าของผู้หญิงแน่นอน เพราะมีขนาดเล็กกว่า

นายไพรัช มณีงาม หัวหน้าอุทยานภูหินร่องกล้า เปิดเผยว่า รอยเท้ามนุษย์ ประทับบนหินที่ภูหินร่องกล้า ถือว่า แปลกประหลาด ยังไม่มีใครสังเกตเห็นมาก่อน แม้เจ้าหน้าที่อุทยานฯเดินสำรวจป่าหลายครั้ง ก็ไม่เคยพบ เพราะรอยเท้ามีหญ้าหรือมอสปกคลุม

“คงไม่มีใคร ลงทุนสร้างรอยเท้ามนุษย์ไปฝังบนเนินหินแน่นอน น่าจะเกิดโดยธรรมชาติ หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ภูหินร่องกล้า ก็ถือว่า ตอกย้ำความเชื่อที่ว่าอุทยานฯภูหินร่องกล้า เคยเป็นชั้นหินแล้วเกิดการสะสมตัวของตะกอนเม็ดกรวด เม็ดทรายใต้ท้องน้ำในยุคหลายล้านปีก่อน” หัวหน้าอุทยานฯเผย

ทั้งนี้ ตามข้อมูลธรณีวิทยาระบุว่า ลานหินแตกและลานหินปุ่ม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยานฯนั้น เป็นปรากฏการณ์ยุค 50 ล้านปีก่อน ที่มีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก หินร่องกล้าถูกยกตัวสูงขึ้น เพราะถูกแรงบีบอัดสองด้านเกิดเป็นภูเขา ทำให้เกิดรอยแยกคือ ลานหินแตก ส่วนลานหินปุ่ม สันนิษฐานว่าเกิดจากการผุพังของชั้นหิน ต่อมาถูกน้ำกัดเซาะทำให้รอยแตกเป็นร่องลึกและกว้าง กลายเป็นรูปร่างกลมมน มองเห็นเป็นลานปุ่มเรียงราย

แต่รอยเท้า ที่เกิดขึ้นบนหินก้อนดังกล่าวนั้น ยังไม่สามารถระบุกันได้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร มีเพียงการสันนิฐานกันว่า น่าจะเป็นร่องรอยมนุษย์ยุคหลายล้านปีก่อน แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีนักวิชาการพิสูจน์แน่ชัด

ส่วนการจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมนั้น ยังลำบาก เพราะรอยเท้าอยู่บนเส้นทางป่ารกทึบ


ขอขอบคุณที่มา : http://www.onep.go.th/index.php?option=com_content&view=category&id=72&layout=blog&Itemid=85

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รายชื่อสมาชิกในกลุ่ม
1.นางสาว นพรัตน์ นุตวงษ์
2.นางสาว ณิชากร ภู็่หัสดร
3.นาวสาว อัมราพร สายสุดใจ
4.นางสาว ชนิดา โนนใหม่
5.นางสาว บุษกร นภาแก้ว

ฉลามวาฬ Whale shark



ปลาใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดโตเต็มที่อาจยาวเกิน 12 เมตร น้ำหนักเกิน 11 ตัน ฉลามวาฬพบได้ทั่วโลก แต่มีเพียงทะเลบางแห่ง...บางแห่งเท่านั้น ที่พบเขาชุกชุม จนกลายเป็นตำนานเล่าขานถึงปลาใหญ่สุดที่มวลมนุษยชาติได้รู้จัก เมื่อพ.ศ.2467 กลางอ่าวไทย ฉลามวาฬขนาดยาวเกิน 15 เมตรถูกจับได้ ตลอดประวัติศาสตร์หลายพันปีของมนุษย์ เราไม่เคยพบปลาตัวไหนใหญ่กว่านั้น...อีกแล้ว


ลำดับทางอนุกรมวิธาน

Phylum Vertebrata
Class Chordata
Order Orectolobiformes
Family Rhincodontidae
Genus Rhincodon
Sciencetific name Rhincodon typus
ชื่อไทย ฉลามวาฬ หัวบุ้งกี๋
ชื่อสามัญ Whale shark



ฉลามวาฬ ( Whale shark - Rhincodon typus ) เป็นสัตว์เลือดเย็นในพวกปลากระดูกอ่อน กลุ่มปลาฉลาม เป็นชนิดเดียวใน Family Rhincodontidae และอยู่ใน Order Orectolobiformes ร่วมกับฉลามเสือดาว ( leopard shark - Stegostoma fasciatum ) และ ฉลามขี้เซา ( Nurse shark - Nebrius ferrugineus )

ฉลามวาฬ ใช้เหงือกในการหายใจ มีช่องเหงือก 5 ช่อง มีครีบอก 2 อัน ครีบหาง 2 อัน และครีบก้น(หาง) 1 อัน หางของฉลามวาฬ อยู่ในแนวตั้งฉาก และโบกไปมาในแนวซ้าย-ขวา แตกต่างจากสัตว์เลือดอุ่นในทะเลที่หางอยู่ในแนวขนานและหายใจด้วยปอด อาทิ วาฬ โลมา พะยูน เป็นต้น

ฉลามวาฬเป็นปลาและสัตว์เลือดเย็นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กิน plankton เป็นอาหารเช่นเดียว กับกระเบนราหู ( Manta ray - Manta brevirostris ) แต่มีวิธีการกินที่แตกต่างกันออกไป โดยฉลามวาฬจะว่ายเข้าหาฝูง plankton แล้วอ้าปากหุบน้ำ เข้าไปจากนั้นก็จะใช้ซี่เหงือกกรอง plankton ไว้ ขณะที่ manta จะอ้าปากให้น้ำผ่านตลอดเวลา

ลักษณะของฉลามวาฬที่แตกต่างจากฉลามที่เรารู้จักกันคือ หัวที่ใหญ่โตมากเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว และปากที่อยู่ด้านหน้าแทนที่จะอยู่ด้านล่าง ลักษณะการกินอาหารไม่ใช่ปัจจัยที่นักวิทยาศาสตร์ใช้แบ่งฉลามวาฬออกจากฉลามตัวอื่นๆ เนื่องจากยังมีฉลามอีก 2 ชนิดที่ กิน plankton เป็นอาหารแต่อยู่คนละ order กับฉลามวาฬ

วงจรชีวิต ฉลามวาฬเป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตลึกลับ เท่าที่มีรายงานทราบว่าฉลามวาฬมีอายุยืนมาก จากรายงานของประเทศออสเตรเลียพบว่าฉลามวาฬจะเริ่มสืบพันธุ์ เมื่ออายุ 30 ปี หากเปรียบเทียบช่วงอายุการสืบพันธุ์กับฉลามอื่นใน Order เดียวกันแล้ว พบว่าฉลามวาฬอาจมีอายุถึง 100 ปี ไม่เคยมีใครเห็นฉลามวาฬผสมพันธุ์ในน้ำ แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นในทะเลลึกนอกจากนี้เรายังไม่ทราบแน่ชัดฉลามวาฬออกลูกเป็นตัวหรือเป็นไข่

ในปีค.ศ. 1953 มีเรือประมงลากอวนได้ไข่ของฉลามวาฬ ขนาด 35 เซนติเมตรขึ้นมาได้จากระดับความลึก 55 เมตร ภายในมีตัวอ่อนฉลามวาฬ แต่เราก็ยังไม่แน่ใจว่าฉลามวาฬออกลูกเป็นไข่ เนื่องจากว่าหลังจากนั้นไม่เคยมีใครเห็นไข่ฉลามวาฬอีกเลย

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อว่าฉลามวาฬออกลูกเป็นตัว (ไข่ฟักตัวในท้องแม่ แล้วออกมาเป็นตัวข้างนอก) สันนิษฐานว่า ฉลามวาฬ 1 ตัวอาจมีไข่มากว่า 100 ฟอง ในรังไข่ อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานนี้ก็ยังไม่มีการยืนยัน

บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมไม่เทียบกับฉลามอื่นๆใน Order เดียวกัน คำตอบก็คือ ฉลามในกลุ่มเดียวกันนั้นออกลูกได้ทั้งเป็นตัว(ฉลามขี้เซา) และเป็นไข่(ฉลามเสือดาว) เรื่องที่น่าประหลาดอีกเรื่องก็คือ ฉลามวาฬ เกือบทั้งหมดที่พบมีขนาดใหญ่กว่า 3.5 เมตร มีเพียง 3 ครั้ง เท่านั้นที่พบขนาดเล็กกว่านั้น คือมีขนาด 60 เซนติเมตร 1.3 เมตร และ 3 เมตร

การแพร่กระจาย ฉลามวาฬมีการแพร่กระจายในทะเลเขตร้อนทั่วโลก ยกเว้นทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน ฉลามวาฬมักอาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำมีอุณหภูมิ 21-26 องศาเซลเซียส โดยมีการแพร่กระจายสัมพันธ์กับกระแสน้ำอุ่นในบางบริเวณ ฉลามวาฬมักพบในเขตที่มวลน้ำอุ่นปะทะกับน้ำเย็นและ มี plankton มาก ในบริเวณน้ำผุด ( กระแสน้ำด้านล่างพัดปะทะแนวหินแล้วพัดพาเอาธาตุอาหารจากพื้นขึ้นสู่มวลน้ำด้านบน - Upwelling )

นอกจากนี้หลายคนเชื่อว่าฉลามวาฬมีการอพยพย้ายถิ่นแต่ยังไม่มีแนวทางแน่นอนว่าเป็นแนวทางใด ฉลามวาฬในเมืองไทยส่วนใหญ่พบตามกองหินใต้น้ำในบริเวณทะเลเปิด มีความลึก 30 เมตรขึ้นไป อาทิ ริเชลิว หินม่วง หินแดง กองตุ้งกู โลซิน ฯลฯ จุดที่เชื่อกันว่าพบฉลามวาฬบ่อยที่สุดคือ ริเชลิว มีความเป็นไปได้ในเรื่องการอพยพของฉลามวาฬในระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร อาทิ พบว่ามีการอพยพของฉลามวาฬจากเกาะปาปัวนิวกีนีลงมาตามชายฝั่งด้านตะวันออกของแนวปะการัง great barrier reef

การล่าฉลามวาฬในต่างประเทศ ชาวประมงต้องการเพียงแค่ซึ่งมีราคาสูงที่สุด ครีบและหางจะถูกนำมาตากแห้ง ก่อนแล่แล้วส่งโรงงานทำเป็น “หูฉลาม” บางครั้งชาวประมงแล่เอาครีบและหางกลางทะเล ก่อนปล่อยให้ซากศพจมสู่พื้นทะเล เนื้อส่วนท้องของฉลามวาฬจะถูกชำแหละเป็นชิ้น เนื้อส่วนนี้จะถูกนำไปทำเป็น “ฉลามเต้าหู้” ส่วนเครื่องในของฉลามวาฬ เช่น ตับ จะถูกนำส่งโรงงานไปทำน้ำมันตับปลา ใส่แคปซูลไปให้คนกินทั่วโลก แต่ไม่ใช่เฉพาะฉลามวาฬเท่านั้นที่มีตับ ปลาอื่นก็มี และยังมีอีกหมื่นอีกแสนปลาที่เป็นอาหารของพวกเราโดยตรง ไม่จำเป็นต้องฆ่าฉลามวาฬเพียงเพื่อหวังตับและครีบ



เหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้เกิดในทะเลไทย ประมงไทยยังนับถือฉลามวาฬเหมือนเจ้าพ่อ หรือตัวนำโชคแต่ฉลามวาฬเป็นสัตว์อพยพ มีการเดินทางจากทะเลหนึ่งไปอีกทะเลหนึ่ง เขาไม่รับรู้รับทราบกับการแบ่งขอบเขตประเทศของมนุษย์แม้แต่น้อย

หลายสิบปีผ่านไป ฉลามวาฬยังคงอยู่คู่ทะเลไทย พบชุกชุมที่หินริเชลิว ฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดพังงา ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน บริเวณหินม่วง-หินแดง ในเดือนมกราคม ฯลฯ รวมทั้งข้อมูลที่พบทั่วไปในอ่าวไทย เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี หินเพลิง จังหวัดระยอง หินแพ จังหวัดชุมพร ฯลฯ นักดำน้ำต่างพากันลงทะเล ยอมเสียเงินหลายหมื่นบาท บางคนลงทุนข้ามโลกมา เพื่อเพียงได้เห็น ได้มีโอกาสว่ายน้ำเคียงคู่กับปลาใหญ่ที่สุดในโลกสักครั้งในชีวิต ข้อมูลจากการสำรวจขั้นต้น ฉลามวาฬหนึ่งตัวที่หินริเชลิว ทำรายได้ให้ประเทศไทยประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี

บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออกมีชาวประมงและนักดำน้ำเจอกันเป็นประจำในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งฉลามวาฬส่วนใหญ่จะเข้ามากินอาหาร ได้แก่พวกลูกกุ้ง เคย เนื่องจากมีความชุกชุมมากในช่วงนี้ จากการสอบถามคุณวิเชียร สิงห์โตทอง ประธานชมรมธุรกิจท่องเที่ยว บอกว่าในปี พ.ศ. 2546 เจอฉลามวาฬ 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2546 มีความยาวประมาณ 8 เมตร ที่บริเวณเกาะรัง จังหวัดตราด ความลึกของน้ำประมาณ 30 เมตร และเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 พบบริเวณหินเพลิง จังหวัดระยอง ความยาวลำตัวประมาณ 7-8 เมตร พบที่ความลึกของน้ำประมาณ 30 เมตร และจากการสอบถามชาวประมงเรือไดหมึก พบฉลามวาฬเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูหนาว (ตุลาคม-กุมภาพันธ์) บริเวณเกาะทะลุ และบริเวณหมู่เกาะมัน ที่ความลึกของน้ำประมาณ 15-17 เมตร ในปีพ.ศ.2548 คืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2548 คุณวิเชียร สิงห์โตทอง พบปลาฉลามวาฬเพศเมีย ความยาวลำตัว 4.5 เมตร น้ำหนัก 480 กิโลกรัม เข้ามาเกยตื้นที่บริเวณหาดแหลมแม่พิมพ์ จังหวัดระยอง ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ชาวบ้านและชาวประมงในบริเวณนั้นช่วยกันผลักให้ฉลามวาฬลงทะเลไปได้ แต่ฉลามวาฬอาจได้รับบาดเจ็บหรือป่วย เช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2548 ก็พบว่าได้เสียชีวิตแล้ว ซากของฉลามวาฬได้นำไปผ่าพิสูจน์ปรากฏว่าไม่พบอาหารในกระเพาะเลย คาดว่าน่าจะป่วยหรือได้รับบาดเจ็บจนว่ายน้ำ ไม่ไหว
CREDIT:http://km.dmcr.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=99:2009-02-17-04-13-13&catid=93:2009-02-16-08-37-08

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กิจกรรมรณรงค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

กิจกรรมรณรงค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ณ หอผู้ป่วยกุมาร 1 โรงพยาบาลราชบุรี
ตึกเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ ชั้น 2
เวลา 15.49-16.55 น.
จุดประสงค์
เพื่อให้ผู้ป่วย ผู้เยี่ยม พนักงาน หมอ พยาบาล ในโรงพยาบาลได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในโรงพยาบาล ต้องมีการจัดการกับสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลให้ดี สะอาด ไร้เชื้อโรค รวมทั้งให้ประชาชนที่เห็นการรณรงค์ของเรา ตระหนักถึงความสำคัญและช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นไป

ขั้นแรกก็ช่วยกันตัดกระดาษก่อน

ลองทาบดูซิใช่ได้ป่าวเนี้ย

วัดตรงมั๊ยเรา

ดูท่าจะเอียงนะเนี้ย

ช่วยกันแปะ ช่วยกันดู แบบว่าสามัคคี !

กิจกรรมรณรงค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

มุ่งมั่นทำต่อไปค่ะ

แกะไม่ออกอ่ะ

เร็วๆหน่อย ฉันจะติดกาว!

ของหายแล้วเรา

กิจกรรมรณรงค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

พวกเรากำลังทำหัวข้อเรื่อง อย่างตั้งใจค่ะ ^^

งานเสร็จไปกว่าครึ่ง ดีใจจัง!

ช่วยกันแกะกาวสองหน้า และติดบอร์ดกัน

โฮ เสร็จแล้ว พวกเราดีใจค่ะ

งานก็เป็นแบบนี้ล่ะค่ะ สวยๆๆ

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ยูเครนเตรียมช่วยหมี ถูกทารุณในร้านอาหาร

รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศยูเครน ประกาศเตรียมช่วยเหลือหมี ที่ถูกทำทารุณ และบังคับให้ดื่มวอดกาในร้านอาหาร และโรงแรมในที่ต่างๆทั้งหมด...

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ว่า นายไมโคลา ซโลเชฟสกี รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศยูเครน กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการช่วยเหลือหมี ที่ถูกจับเพื่อนำไปโชว์ในภัตตาคารต่างๆ และถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยบอกว่า มันเป็นเรื่องที่ผิดหลักมนุษยธรรม และเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้


"ในโทรทัศน์ยังมีการถ่ายทอดการทารุณกรรมหมีภายในร้ายอาหาร และโรงแรมต่างๆ เราจะทนให้มีการกระทำเยี่ยงนี้ในร้านอาหาร และปล่อยให้บรรดาแขกเหรื่อบังคับให้หมีดื่มวอดกา และนั่งหัวเราะไปอีกนานแค่ไหนกัน" เขากล่าว

ทั้งนี้ นายซโลเชฟสกี ยังเปิดเผยว่า ทางกระทรวงเตรียมแผนการสร้างเขตที่อยู่อาศัย ซึ่งจะสามารถรองรับหมีได้ถึง 80 ตัว ไว้ที่เขตุอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งในประเทศแล้ว

อนึ่ง การจับและฝึกหมีเพื่อความบันเทิงในร้านอาหาร มีมาตั้งแต่สมัยยูเครนยังรวมเป็นประเทศเดียวกันกับรัสเซีย และยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่ายูเครนจะยกให้หมีเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติแล้วก็ตาม

ที่มา http://www.thairath.co.th/content/oversea/191358

สนองพระราชดำริฟื้นฟูดิน ยกเขาหินซ้อนเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ

นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าวว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา นับเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรก ที่กรมพัฒนาที่ดินได้สนองพระราชดำริ เข้าไปฟื้นฟูสภาพดิน พร้อมกันนี้ยังเป็นแกนกลางประสานส่วนราชการอื่นๆ เพื่อร่วมพลิกฟื้นปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ขาดศักยภาพในการทำเกษตร สภาพทะเลทรายกลายเป็นพื้นที่เขียวชอุ่ม ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก สร้างความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ได้อยู่ดีกินดีขึ้นเป็นอย่างมาก


รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าวต่อว่า ศูนย์พัฒนาฯ ดังกล่าว หลังเข้าไปดูแลทำการพลิกฟื้นสามารถปลูกพืชพรรณต่างๆ สร้างรายได้ สร้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติให้ประชาชนได้เรียนรู้ในการดำรงชีวิตตามแบบอย่างเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผลพวงจากการดำเนินงานดังกล่าว ได้ก่อเกิดโครงการและกิจกรรมที่สร้างความสุข เสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ประชาชนได้รู้จักการใช้ประโยชน์จากดินอย่างรู้คุณค่า เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป.

ที่มา http://oknews.exteen.com/20110804/entry-43

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปรอทในก๊าซธรรมชาติ


เมื่อพูดถึงปรอท ทุกคนจะนึกถึงปรอทที่อยู่ในเทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้วัดอุณหภูมิ หรือบาโรมิเตอร์ที่ใช้วัดความดันบรรยากาศ หรือมาโนมิเตอร์ที่ใช้วัดความดันเลือด ปรอทเป็นธาตุที่มีคุณอนันต์ ในขณะเดียวกันก็มีโทษมหันต์ ปรอทเป็นสารที่มีพิษร้ายแรงมาก สามารถดูดซึมผ่านระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และซึมผ่านทางผิวหนังถ้ามีแผลหรือรอยแตกและสะสมพิษเอาไว้ เนื่องจากปรอทเป็นธาตุที่ระเหยได้และสามารถอิ่มตัวในอากาศ จึงเป็นสารที่มีอันตรายมาก ได้มีมาตรฐานกำหนดปริมาณสารปรอทในอากาศหายใจ ซึ่งกำหนดโดย Envirnmental Protection Agency (EPA) ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้อากาศมีสารปรอทได้ไม่เกิน 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สารประกอบปรอทที่มีพิษมากที่สุดได้แก่ เมทธิลเมอร์คิวรี่ เมอร์คิวริกคลอไรด์ ซึ่งสามารถระเหิดได้และมีพิษกัดกร่อนสูง ก๊าซธรรมชาติบางแหล่งในโลกพบว่ามีไอของปรอท และสารประกอบเจือปนมาด้วย เช่น ที่โปแลนด์ รัสเซีย อัลจีเรีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในแหล่งอรุณ ประเทศอินโดนีเซีย พบว่ามีปริมาณสูงถึง 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ปรอทที่พบในก๊าซธรรมชาติของไทย ตรวจพบครั้งแรกในสภาพของเหลวค่อนข้างบริสุทธิ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2528 บริเวณอ่าวไทย ที่แหล่งปลาทอง และพบที่แหล่งสตูล เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2528 โดยเก็บได้ที่ Dew Point Control Unit ส่วนแหล่งเอราวัณ พบปรอทในสภาพเป็นของเหลว เมื่อเดือนสิงหาคม 2531 โดยเก็บได้ที่ Sample Line ของหัวสูบ (Wellhead) ก๊าซธรรมชาติที่มีปริมาณปรอทเจือปน จะมีผลต่อระบบท่อในโรงแยกก๊าซเพราะว่าปรอทมีคุณสมบัติที่จะรวมตัวกับโลหะได้เกือบทุกชนิดซึ่งเรียกว่า Amalgum ปฏิกิริยานี้จะทำให้โครงสร้างของโลหะผสมของท่อในโรงแยกก๊าซเสียหาย ดังนั้นการวิเคราะห์ปรอทในก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะปรอทมีผลทั้งต่อระบบท่ออุปกรณ์ และต่อสภาวะแวดล้อม

ปรอทที่พบในก๊าซธรรมชาติ จะอยู่ในรูปของไอปรอท และปะปนมากับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม เมื่อขึ้นสู่ปากหลุมหรือผ่าน Dew Point Control Unit (DPCU คือ จุดลดอุณหภูมิของก๊าซ เพื่อแยกของเหลวออกจากก๊าซ อุณหภูมิที่ใช้ต้องคำนวณโดยอาศัย Equilibrium ของก๊าซ) ปรอทจะแยกตัวออก ไอปรอทที่พบในก๊าซธรรมชาติมีอยู่ 2 รูป คือ อยู่ในรูปของธาตุปรอท และสารประกอบของปรอท โดยสารประกอบของปรอทที่พบในก๊าซธรรมชาติส่วนมาก ได้แก่ dimethylmercury (ไดเมทธิลเมอร์คิวรี) และ diethylmercury (ไดเอทธิลเมอร์คิวรี)

การเกิดปรอทในก๊าซธรรมชาติ จากการศึกษาโดย Arne Jernelov พบว่าปรอทเป็นธาตุที่หนัก เนื่องจากมีค่าความถ่วงจำเพาะประมาณ 13 และไม่ละลายในน้ำ ดังนั้นในการตกตะกอนซึ่งมักจะสะสมในบริเวณใกล้ปากแม่น้ำหรือปากอ่าว ปรอทจะสามารถรวมเป็นสารประกอบ (Form Complex) ได้อย่างแข็งแรงกับสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ จากนั้นจึงตกตะกอนรวมกับตะกอนอื่น ๆ โดยปรอทจะถูกออกซิไดส์ไปเป็น Bivalent lon (Hg+2) และ Hg+2 จะถูก methylate ไปเป็น methylmercury และ dimethylmercury จะอยู่ในน้ำ และสะสมในปลา สาหร่าย ตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในน้ำ ในขณะที่ dimethylmercury มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไปกับก๊าซออกสู่บรรยากาศภายนอก ภายใต้สภาวะที่เป็นกรด และมีแสงอุลตราไวโอเลต dimethylmercury จะไม่คงตัวและถูกเปลี่ยนไปเป็น methylmercury ซึ่งอาจตกตะกอนหรือถูกเปลี่ยนไปเป็นธาตุปรอท ขบวนการต่าง ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับขบวนการทางเคมี ชีวะและฟิสิกส์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ในสหรัฐอเมริการายงานว่าสารประกอบไฮโดรคาร์บอน จะเกิดร่วมกับปรอท ที่เมือง Mt.idlo ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียพบว่าปรอทเกิดร่วมกับน้ำมันดิบและก๊าซ ที่แหล่งปิโตรเลียม Cymric ใน Kern County มลรัฐแคลิฟอร์เนีย พบธาตุปรอทและสารประกอบของปรอท ในน้ำมันดิบ ก๊าซ และ Saline Oilfield Water และพบว่าก๊าซธรรมชาติที่แยกออกจากน้ำมันดิบจะอิ่มตัวด้วยไอปรอท

ปัจจุบันการพบปรอทในก๊าซธรรมชาติไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ เพราะพบปรอทในก๊าซธรรมชาติหลายแหล่งทั่วโลก และมีปริมาณปรอทสูง ดังนั้นถ้าหากมีการกำกับดูแลปริมาณปรอทในก๊าซให้เป็นไปตามมาตรฐาน และมี Mercury Absorber ติดตั้งก่อนเข้าโรงแยกก๊าซ รวมทั้งการกำจัดปรอทในน้ำซึ่งแยกออกจากก๊าซธรรมชาติในขบวนการผลิต ปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นจากกิจการปิโตรเลียม จะลดน้อยลงมาก
ที่มา http://www.school.net.th/library/snet6/envi3/parod/parodn.htm

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ของจุดน้ำจืดสูงสุด (Peak Water)

วิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ของจุดน้ำจืดสูงสุด (Peak Water)
สฤณี อาชวานันทกุล


ในวิถีการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ผ่านมากว่า 200 ปี คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า วิชาเศรษฐศาสตร์มีส่วน “ทำบาป” ทางทฤษฎีและวิถีปฏิบัติไม่น้อยเลย แต่บาปหลายประการซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักควรจะยอมรับและไถ่บาปอย่างเร่งด่วน เพราะมันสร้างความเสียหายและทำให้รัฐทั่วโลกดำเนินนโยบายผิดพลาดอย่างต่อเนื่อง มีรากมาจากความเข้าใจผิดสองข้อเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ

ความเข้าใจผิดข้อแรกคือ การมองไม่เห็นว่า “ทุนทางสังคม” และกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนสามารถมีประสิทธิภาพดีได้ และในหลายกรณีมีประสิทธิภาพดีกว่าการตัดแบ่งทรัพยากรให้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลหรือให้รัฐจัดการควบคุมด้วยซ้ำไป (ประเด็นนี้ เอลินอร์ ออสตรอม นักเศรษฐศาสตร์สำนักสถาบันใหม่ (new institutional economics) เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2009 อธิบายอย่างแจ่มชัดในงานของเธอ ผู้เขียนจะหยิบมาเล่าสู่กันฟังต่อไป)

ความเข้าใจผิดข้อสองคือ การมองไม่เห็น “ขีดจำกัด” ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทรัพยากรที่มีวันหมด (ธรรมชาติไม่สร้างใหม่แล้ว) อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล และทรัพยากรที่ธรรมชาติสร้างใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่มนุษย์กำลังตักตวงหรือผลาญอย่างรวดเร็วเกินอัตราการฟื้นฟูของธรรมชาติ อาทิ อากาศบริสุทธิ์ แหล่งประมงในทะเลหลายแห่ง และแหล่งน้ำจืด


เมื่อพูดถึงน้ำจืด คำว่า “จุดน้ำจืดสูงสุด” (peak water) เพิ่งได้รับการประดิษฐ์เมื่อไม่นานมานี้เอง คำอธิบายที่ชัดที่สุดคือคำอธิบายของ ปีเตอร์ กลีก (Peter Gleick) และ มีนา พาลาเนียบพัน (Meena Palaniappan) ในบทความซึ่งได้รับการตีพิมพ์ปี ค.ศ. 2010 ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เรื่อง “Peak water limits to freshwater withdrawal and use” (“จุดน้ำจืดสูงสุดของการตักตวงและใช้น้ำจืด”)


คำว่า “จุดน้ำจืดสูงสุด” อาจทำให้หลายคนประหลาดใจ เป็นไปได้อย่างไรที่น้ำจืดจะหมด? ในเมื่อธรรมชาติมี “วัฏจักรของอุทกวิทยา” หรือเรียกสั้นๆ ว่า วัฏจักรน้ำ ซึ่งทุกคนต้องเรียนตั้งแต่เด็ก แต่กลีกและพาลาเนียบพันยืนยันว่า เราอาจเข้าสู่ “จุดน้ำจืดสูงสุด” ได้จริง เพราะในหลายพื้นที่เรากำลังใช้น้ำในปริมาณและอัตราที่เร็วกว่าการฟื้นฟูของวัฏจักรน้ำในธรรมชาติ

ก่อนอื่นพวกเขาเท้าความว่า ภาวะขาดแคลนน้ำกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในหลายภูมิภาคทั่วโลก (อ่านมุมมองและข้อเสนอของนักสิ่งแวดล้อมบางส่วนได้ใน “วิกฤตน้ำและทางออก : ข้อคิดจาก เลสเตอร์ บราวน์”) เสร็จแล้วกลีกและพาลาเนียบพันก็สรุปเรื่อง “จุดผลิตน้ำมันสูงสุด” (Peak Oil) และเปรียบเทียบกับจุดน้ำจืดสูงสุดเพื่อให้เราเห็นภาพชัดขึ้น ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างน้ำกับน้ำมัน (นอกจากว่ามันเข้ากันไม่ได้) คือ น้ำมันมีจำกัด หมดแล้วหมดเลย ส่วนน้ำอาจมีจำกัดเฉพาะในระดับท้องถิ่น ในระดับโลกอาจมีไม่จำกัดถ้าหากเราลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำจืดใหม่ๆ แต่ในทางกลับกัน น้ำมันในฐานะแหล่งพลังงานมีสิ่งที่ใช้ทดแทนได้มากมาย อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ แต่ไม่มีอะไรที่สามารถทดแทนน้ำได้ กลีกและพาลาเนียบพันสรุปความแตกต่างระหว่างน้ำกับน้ำมันเป็นตารางต่อไปนี้


จุดน้ำจืดสูงสุดนั้นคล้ายกันกับจุดผลิตน้ำมันสูงสุดในแง่ที่ว่า ขณะที่เราเข้าใกล้มัน เราต้องเลือกว่าจะตอบสนองต่อความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไร ทางแรกคือหาทางลดความต้องการใช้น้ำลง (เช่น รณรงค์หรือบังคับให้คนประหยัดน้ำ) ทางที่สองคือเปลี่ยนวิธีใช้น้ำ เปลี่ยนจากการใช้มูลค่าต่ำไปสู่การใช้ที่มีมูลค่าทางสังคมหรือเศรษฐกิจสูงกว่า ทางที่สามคือย้ายความต้องการไปสู่บริเวณที่มีน้ำเหลือเฟือ ทางที่สี่คือลงทุนเพิ่ม เช่น ขนส่งน้ำมาจากที่อื่น หรือลงทุนในน้ำทะเลซึ่งมีไม่จำกัด เช่น แยกเกลือออกจากน้ำทะเล (desalination) ให้คนบริโภคได้ กระบวนการนี้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้วในหลายพื้นที่ อาทิ ซาอุดิอาระเบีย อิสราเอล สิงคโปร์ และบางประเทศในทะเลคาริบเบียน

พูดง่ายๆ คือ มนุษย์ย่อมตักตวงแหล่งน้ำซึ่งมีต้นทุนถูกก่อน พอถึงจุดคุ้มทุนสูงสุดก็ต้องเปลี่ยนไปใช้แหล่งน้ำที่แพงกว่าเดิม เช่น แยกเกลือออกจากน้ำ เพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นน้ำก็จะขาดแคลน ปริมาณน้ำที่ผลิตได้จึงมีลักษณะเป็น “ขั้นบันได” ดังรูปด้านล่างนี้


กลีกและพาลาเนียบพันอธิบายว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่ทั้งทดแทนได้และไม่ได้ มันทดแทนได้ในแง่ที่ไหลเวียนและเปลี่ยนรูปได้อย่างรวดเร็ว (flow) การใช้น้ำของมนุษย์ปกติไม่มีผลต่ออัตราการฟื้นฟูของวัฏจักรน้ำในธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม น้ำก็ทดแทนไม่ได้เหมือนกันในแง่ที่มันสะสมเป็น “คลัง” (stock) ใต้ดินในระดับท้องถิ่น น้ำใต้ดินท้องถิ่นคล้ายกันกับน้ำมัน ตรงที่อัตราการสูบขึ้นมาใช้ของมนุษย์นั้นรวดเร็วกว่าอัตราการฟื้นฟูของชั้นหินอุ้มน้ำ (นักวิทยาศาสตร์มักจะเรียกชั้นหินนี้ว่า ชั้นหิน “ฟอสซิล” เพราะมันฟื้นฟูช้ามาก)


การสูบน้ำบาดาลเกินกำลังการฟื้นฟูของธรรมชาติอาจส่งผลกว้างไกลกว่าภาวะขาดแคลนน้ำ นักวิจัยในอินเดียกลุ่มหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้พบว่า อินเดียใช้น้ำมหาศาลจากการสูบน้ำบาดาลที่ทดแทนไม่ได้ และน้ำเหล่านั้นก็ไปลงเอยในทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแต่ระดับน้ำใต้ดินลดลงอย่างฮวบฮาบ ทั้งหมดนี้ยังไม่นับว่าภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะซ้ำเติมให้ภาวะขาดแคลนน้ำเลวร้ายลงอีกมากในอนาคต

ถึงที่สุดแล้ว แนวคิด “จุดน้ำจืดสูงสุด” ไม่ได้ตอบคำถามว่า น้ำจืดจะ “หมด” เมื่อไร แต่เป็นคำเตือนให้เราตระหนักว่า บนดาวเคราะห์สีฟ้าของเราดวงนี้ มีน้ำเพียงร้อยละ 3.5 ของน้ำทั้งโลกเท่านั้นที่เป็นน้ำจืด และในจำนวนนี้มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เราใช้ได้ – ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า เรากำลังจะมองเห็นขีดจำกัดที่ชัดเจนของความต้องการใช้น้ำในหลายพื้นที่ทั่วโลก และ “การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กหรือไร้สาระอีกต่อไปแล้ว

ที่มา>>http://www.greenworld.or.th/columnist/ecosaveworld/1381

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เตือนดินถล่มรุนแรง!!

กรมอุทยานฯ สั่งเฝ้าระวัง 6 จุดเสี่ยงน้ำท่วม-ดินถล่ม ในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ ชี้อาจรุนแรงเหมือนเกิดที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายมาโนช การพนักงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ให้ข้อมูลเข้ามาเป็นการด่วนว่าบริเวณเขาเขียว ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ ไม่กี่วันมานี้มีฝนตกปริมาณ 300 มิลลิเมตรในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งตนสั่งให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะหากฝนตกติดต่อกัน3วัน อาจเกิดเหตุน้ำท่วมดินถล่ม ซึ่งจัดว่าเป็นพื้นที่ที่อันตรายจึงขอเตือนว่าอย่าเข้าไปอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว...


ที่มา :http://www.thairath.co.th/content/region/188326

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สูดโอโซน ดีจริงหรือ?

สูดโอโซน ดีจริงหรือ?
เรื่อง เฟื่องฟ้า


พอถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ หลายคนมักติดปากว่าอยากไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัดเพื่อสูดโอโซน ทว่าการพูดเช่นนั้นแสดงว่าคุณยังไม่รู้จักโอโซนดีพอ

ความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ว่านี้อาจเป็นเพราะโมเลกุลของโอโซนประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม คนทั่วไปเลยคิดเป็นตุเป็นตะเอาเองว่าออกซิเจนยิ่งมากก็ยิ่งหมายถึงอากาศบริสุทธิ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอโซนมีทั้งที่ดีและไม่ดี

โอโซนที่ดีจะอยู่ในระดับความสูงเหนือพื้นดินมากกว่า 40 กิโลเมตรขึ้นไป โดยเฉพาะในชั้นสตราโทสเฟียร์ ส่วนโอโซนที่ไม่ดีคือโอโซนที่อยู่เหนือระดับพื้นดินไม่เกิน 2 กิโลเมตร เพราะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา จมูก คอ และหากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากก็อาจเป็นอันตรายต่อปอดและเสียชีวิตได้ สิ่งที่ก่อให้เกิดโอโซนในระดับต่ำ ก็เช่น ควันของรถยนต์ เป็นต้น

สำหรับโอโซนที่ดีจะทำหน้าที่กั้นรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดบี (UVB) ซึ่งมีความยาวคลื่น 280-320 นาโนเมตร ส่องมายังโลกในปริมาณที่มากจนเกินไป เนื่องจากเจ้ารังสี UVB นี้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีผลทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ต้อเนื้อ ต้อลม ส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์ เช่น ทำให้พืชแคระแกร็น รวมทั้งยังทำให้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เปราะและหักพังเร็วขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่โลกสีฟ้าของเราใบนี้กำลังเผชิญอยู่ก็คือ รูรั่วโอโซน ส่งผลให้รังสี UVB ส่องผ่านมายังผิวโลกได้มากขึ้น จากการสำรวจโดยเครื่องบิน บอลลูน และดาวเทียม ตลอดจนข้อมูลขององค์การนาซา และ National Oceanic Atmospheric Administration (NOAA) ในปลายปี ค.ศ. 1970 พบว่า โอโซนในอวกาศมีแนวโน้มลดลงมาตลอด

หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1986 มีนักวิทยาศาสตร์ที่สำรวจโอโซนในช่วงฤดูใบไม้ผลิบริเวณซีกโลกใต้เหนือทวีปแอนตาร์กติกด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ด็อบสันสเปคโตรโฟโตมิเตอร์ (Dobson Spectrophotometer) พบว่า ปริมาณโอโซนลดลงเหลือเพียง 88 DU (Dobson Unit) ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 220 DU

สาเหตุที่ชั้นโอโซนถูกทำลาย เกิดจากสารพวกฮาโลคาร์บอน (Halocarbon) ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่มีส่วนประกอบของธาตุคลอรีน ฟลูออรีน โบรมีน คาร์บอน และไฮโดรเจน โดยสารที่เป็นตัวการสำคัญๆ เช่น คลอโรฟลูออโรคาร์บอนหรือ CFC ฮาลอน คาร์บอนเตตระคลอไรด์ เมธิลคลอโรฟอร์ม ซึ่งสารเหล่านี้นิยมใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยปัจจุบันมีความพยายามพัฒนาสารทดแทนที่เป็นมิตรกับโอโซนขึ้นมาใช้แทน และหวังว่าการสูญเสียโอโซนจะหมดไปในอนาคต

"แต่ไปเที่ยวทะเลหรือดงดอยคราวหน้า คงไม่มีใครปรารถนาไปสูดโอโซนอีกแล้วนะ"

ที่มา>>http://www.greenworld.or.th/greenworld/population/1344

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ดีหรือร้าย เมื่อสายการบินของยุโรปหันมาใช้พลังงานชีวภาพ?



เรียบเรียง เสมอชน ธนพัธ

สายการบินรายใหญ่ของยุโรป ไม่ว่าบริติชแอร์เวย์, ลุฟต์ฮันซา, แอร์ฟรานซ์ (เคแอลเอ็ม) ประกาศจะใช้พลังงานชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงหลักในการบิน ทั้งที่องค์การสหประชาชาติเตือนถึงข้อจำกัดการเติบโตของพลังงานชนิดนี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในงาน Paris Air Show 2011อุตสาหกรรมการบินชั้นนำของยุโรปโหมประชาสัมพันธ์แผนที่จะเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่ทำมาจากพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน และสบู่ดำ

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้เคยตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2020 เชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคคมนาคมขนส่งจะต้องมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 10 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนหนึ่งได้ผลักดันให้ภาคการบินใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ 2 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพจะทำให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในภูมิภาคเขตร้อน และนำมาซึ่งการบุกรุกทำลายป่าในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย แคมารูน เป็นต้น ขณะที่องค์การสหประชาชาติระบุว่า การทุ่มปลูกพืชพลังงาน ก็จะทำให้พื้นที่ปลูกพืชอาหารลดน้อยลง และจะเป็นแรงกดดันให้ราคาอาหารสูงขึ้น

อนึ่ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 2 ล้านตัน เชื้อเพลิงชีวภาพที่ต้องผลิตเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับการเติมเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์ได้ 40 ล้านคัน และต้องใช้พื้นที่ปลูกพืชพลังงานเท่ากับขนาดของประเทศเบลเยียม

สายการบินโหมประชาสัมพันธ์

สายการบินแอร์ฟรานซ์ (เคแอลเอ็ม) เปิดเผยว่า ภายในเดือนกันยายนนี้ จะมีเที่ยวบินให้บริการไม่ต่ำกว่า 200 เที่ยวบินที่ใช้พลังงานชีวภาพ ซึ่งเป็นการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ด้านบริติชแอร์เวย์เอง ก็กำลังสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ

วิลเลียม แมกเลนเนน คอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์ The Ecologist ให้ความเห็นว่า ผู้นำอุตสาหกรรมการบินทั้งหลายควรระมัดระวังเรื่องการส่งเสริมพลังงานชีวภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งเรียกร้องให้แหล่งปลูกพืชพลังงานมาจากภายในยุโรปเอง

อย่างไรก็ตาม Neste Oil บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีแผนจะผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพป้อนสายการบิน พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นปาล์มน้ำมัน ส่วนใหญ่มาจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าฝนเขตร้อนของประเทศนั้น

ยิ่งไปกว่านั้น สายการบินลุฟต์ฮันซาที่จัดทำแผนระยะ 6 เดือน ก็ตั้งใจว่าจะใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากสบู่ดำ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีรายงานจากองค์กรการกุศล ActionAid ชี้ว่า ในการปลูกพืชสบู่ดำจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล 2.5 – 6 เท่า

ร็อบบี้ เบลก นักรณรงค์กลุ่ม Friends of the Earth กล่าวว่า สายการบินต่างๆ เหล่านี้ อย่างเช่นบริติชแอร์เวย์ กำลังใช้เรื่องพลังงานหมุนเวียนและการโฆษณามาเป็นฉากบังหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง

“ปาล์มน้ำมันและสบู่ดำที่เป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ มันไม่ได้มาจากในยุโรป แต่เป็นการนำเข้าที่มีต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจำนวนมาก” เบลกกล่าว

พอๆ กับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อต้นเดือนนี้องค์การสหประชาติออกมาเตือนว่า การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจะทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเรียกร้องให้หยุดสนับสนุนการปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งปลูกพืชอาหาร



เรียบเรียงจาก “European airlines to start controversial biofuel-powered flights” จาก www.theecologist.org/

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

"เปี่ยมศักดิ์" นั่งแท่นประธานบอร์ดอิสระด้านสิ่งแวดล้อม

"เปี่ยมศักดิ์" นัดประชุมเลือกประธานบอร์ดกรรมการองค์การอิสระสวล.ตามมาตรา 67 สุดท้ายได่นั่งเองใช้ผลโหวต ไม่ครบองค์ประชุม
ภายหลัง นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ อดีตประธานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(กอสส.) พร้อมด้วย น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และนายวีระพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการ กอสส.ได้ขอลาออกจากการหน้าที่ โดยให้เหตุผลเรื่องปัญหาความไม่โปร่งใสในการทำงาน และมีความขัดแย้งในการทำงานร่วมกับคณะกรรมการ กอสส.จากสายวิชาการ
ล่าสุดวันที่ 12 ก.ค.นี้ นายเปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต รองประธาน กอสส. ได้เชิญกรรมการที่เหลือจำนวน 9 คน เข้าประชุม เพื่อเลือกประธาน กอสส. คนใหม่ แทนนายวีรวัธน์ และเลือกกรรมการอีก 2 คนที่ขอลาออกทันที โดยผลปรา กฎว่า นายเปี่ยมศักดิ์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธาน กอสส.คนใหม่ ส่วนนายสุรพล ดวงแข เป็นรองประธาน กอสส.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้คณะกรรมการ กอสส. บางราย ขอให้นำเรื่องนี้เสนอต่อคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณ สมบัติของผู้ที่อยู่ในรายชื่อสำรองลำดับที่ 1 และเสนอให้นายกรัฐมนตรี ลงนามประกาศรายชื่อกรรมการ เพื่อให้ครบ 12 ท่าน จากนั้นจะได้เลือกประธาน กอสส. ซึ่งกรรมการประสานงานการให้ความเห็นฯ หลายท่านได้ทราบเรื่องนี้แล้ว แต่ปรากฎว่าการประชุมครั้งนี้กลับรีบร้อนที่จะแต่งตั้งประธานคนใหม่ ทั้งที่ไม่ครบองค์ประชุม
นายศุภกิจ นันทะวรการ กรรมการ กอสส. ยอมรับว่าที่ประชุมได้มีทั้งเสียงที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการคัดเลือกประธานกอสส.คนใหม่ เนื่องจากเห็นว่ามีกรรมการที่เข้าประชุมเพียง 9 คนเท่านั้น โดยขาดน.ส.เพ็ญโฉม นายวีระพงษ์ และนายสัญชัย สูติพันธ์วิหาร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้กำลังมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการโรงงานเอทิลเบนซีนสไตรีนโมโนเมอร์ (ขยายกำลังการผลิต) ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ที่จะส่งมาให้กอสส.ให้ความเห็นประกอบ รวมทั้งยังมีโครงการของบริษัท ทีโอซี ไกลคอล ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)จะ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 22 ก.ค.นี้
“ โดยเหตุผลเรื่องการทำงานของกอสส. ที่ต้องเดินหน้าต่อ ทำให้คณะกรรมการฯ จึงจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งประธานกอสส. ในการประชุมครั้งนี้ โดย ใช้วิธีการโหวตจาก 9 คน โดยลงคะแนนแบบเปิดเผย ปรากฎว่านายเปี่ยมศักดิ์ ได้รับการโหวตรวม 7 เสียง แต่ผม กับ น.ส.ศยามล ไกรยูรวงศ์ ขอสงวนสิทธิ์ในการออกความเห็น อย่างไรก็ตาม หลัง จากนี้ทางสำนักงานกอสส.ก็จะทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการประสานงานประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามขั้นตอน ” นายศุภกิจ ระบุ

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ฮือฮา!พบฝูงวาฬบรูด้า โผล่หากินบางแสน-เขาสามมุก

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ เผยพบวาฬแม่-ลูก ที่เคยหากินทะเลสมุทรสาคร โผล่พร้อมฝูงปลาวาฬบรูด้าอีก 5 ตัว แถวทะเลเขาสามมุกกับบางแสน นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 4 ปี...

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทช. โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้สำรวจพบปลาวาฬคู่แม่ลูก “แม่ข้าวเหนียว” และลูก “เจ้าส้มตำ” บริเวณนอกชายฝั่ง จ.สมุทรสาคร เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และในต้นเดือนก.ค.นี้ ได้สำรวจพบว่า แม่ลูกคู่นี้หากินฝูงปลากะตักอยู่ใกล้ชายฝั่งบริเวณเขาสามมุข-หาดบางแสน จ.ชลบุรี โดยพบว่า “เจ้าส้มตำ” มีขนาดความยาวเพิ่มขึ้นจาก 6 เมตร เป็น 7 เมตรเศษ และยังคงหากินใกล้ชิดกับ “แม่ข้าวเหนียว” ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังพบปลาวาฬขนาดใหญ่อีก 5 ตัว รวมทั้งหมดจำนวน 7 ตัว หากินในบริเวณเดียวกันนี้ ในรัศมีห่างฝั่ง 2-5 กิโลเมตร น้ำลึก 10-11 เมตร ซึ่งปลาวาฬอีก 5 ตัว ที่พบในครั้งนี้เป็นตัวที่มีตำหนิชัดและตั้งชื่อแล้ว 3 ตัว คือ “เจ้าวันดี”, “เจ้าชัดเจน” และ “เจ้านำโชค” ทั้ง 3 สามตัวนี้พบหากินนอกชายฝั่ง จ.เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร เมื่อเดือน เม.ย.ถึงมิ.ย. และในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สำรวจพบปลาวาฬบรูด้าบริเวณเขาสามมุข-หาดบางแสน จ.ชลบุรี เพียง 3 ครั้งเท่านั้น

นายเกษมสันต์ กล่าวต่อว่า กล่าวได้ว่า อ่าวไทยตอนบนเป็นแหล่งอาหารของปลาวาฬบรูด้าที่สำคัญมาก ซึ่งอาหารหลักได้แก่ ฝูงปลาขนาดเล็ก เช่น ปลากะตักและปลาหัวตะกั่ว เป็นต้น การจำแนกประชากรปลาวาฬบรูด้าโดยใช้ภาพถ่ายนั้น พบว่ามีจำนวนทั้งหมด 35 ตัว มีพื้นที่หากินส่วนใหญ่คืออ่าวไทยตอนบน และบางฤดูกาลจะอพยพย้ายตามอาหารลงไปทางใต้

ขณะเดียวกัน ทช.ยังมีโครงการศึกษาพฤติกรรมของปลาวาฬบรูด้าโดยใช้เสียงร้อง กับนักวิจัยต่างประเทศในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปชมปลาวาฬบรูด้าให้ปฏิบัติตามคู่มือการชมโลมาและปลาวาฬ ซึ่งสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ของ ทช. และ ทช. รวมทั้งกำลังดำเนินการจัดทำเอกสาร เรื่องภาพถ่ายของปลาวาฬบรูด้า หากท่านสนใจเข้าร่วมงานอนุรักษ์ปลาวาฬบรูด้าของประเทศไทย สามารถเข้าร่วมโครงการแจ้งข่าวสารการพบเห็นปลาวาฬบรูด้ากับ ทช. ได้ในโอกาสต่อไป


>>>ที่มา http://www.thairath.co.th/content/region/184864

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หมอดินดีเด่นเมืองพะเยา ยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่

เมื่อก่อน นายผล มีศรี หมอดินอาสาประจำ อ.ภูซาง จ.พะเยา ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว โดยปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดสลับกันไปในแต่ละปี และมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีจำนวนมาก โดยไม่ได้อนุรักษ์และปรับปรุงบำรุงดินส่งผลให้หน้าดินเสีย ดินเกิดความเสื่อมโทรม ผลผลิตก็ไม่ดี จึงคิดว่า ถ้าปลูกเชิงเดี่ยวต่อไปไม่ไหวแน่...ประจวบเหมาะที่ในช่วงปี 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เขาจึง

เข้าร่วมโครงการกับกรมพัฒนาที่ดิน โดยยึดแนวทางการทำการเกษตรแบบผสมผสานและพึ่งพาตนเองเป็นหลัก นายผล เล่าว่า ในปีเดียวกันจึงได้สมัครเข้าไปเป็นหมอดินอาสากับสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา ซึ่งก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สารขับไล่แมลงจากผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.ของกรมพัฒนาที่ดิน ตลอดจนวิธีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชปุ๋ยสด ปูนโดโลไมท์ หญ้าแฝก ซึ่งตนก็ได้นำความรู้ที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดิน ทั้งจากการไปศึกษาดูงานในที่ต่าง ๆ ตลอดจนนำมาประยุกต์กับภูมิปัญญาของตนเอง จนกระทั่งสามารถวางแผนปรับ ปรุงพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินประจำตำบลภูซางของกรมพัฒนาที่ดิน


สำหรับรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เขานำหลักการพัฒนาที่ดินมาใช้ จะแบ่งตามความเหมาะสมของที่ดิน และสภาพพื้นที่ ได้แก่ ดินเหนียวที่ลุ่มจะทำการปลูกข้าวนาดำ ดินทรายที่ดอนจะปลูกไม้ผล ได้แก่ ลำไย ส่วนดินลูกรังที่ดอนจะปลูกยางพารา นอกจากนี้ ยังแบ่งพื้นที่เพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และทำคอกสัตว์ทั้งสุกร เป็ด ไก่ โค กระบือ

ช่วงแรกก็ทำนาแต่ด้วยลักษณะดินที่ความอุดมสมบูรณ์ต่ำและราคาผลผลิตตกต่ำจึงเปลี่ยนมาปลูกยางพาราแทน นอกจากนี้ ยังได้ขยายการปลูกยางพาราในสวนลำไย เพราะเล็งเห็นว่าลำไยสามารถให้ผลผลิตได้เพียงไม่นานอีกทั้งราคาตกต่ำตลอด แต่ยางพาราสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 9 เดือนใน 1 ปี แถมราคาดีด้วย เนื่องจากขณะนี้ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท แต่ถ้าเราขายได้ในราคาที่กิโลกรัมละ 50 บาทเราก็อยู่ได้แล้ว

มิหนำซ้ำเราปลูกพืชตระกูลถั่วในสวนเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดให้พืชได้นำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่กับทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ที่มาจากวัสดุในแปลงไม่ว่าจะเป็นเศษไม้ยางพารา ใบลำไย มูลสัตว์มาหมักกับสารเร่ง พด.1 เพียง 60-90 วันก็จะได้ปุ๋ยไว้ใช้บำรุงต้นบำรุงรากยิ่งทำให้ผลผลิตดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการปลูกด้วยวิธีนี้จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่ในเกรดเอ ทั้งลำไยและยางพารา จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

>>>>ที่มา http://www.en.mahidol.ac.th/thai/news/envi_news_full.php?id=1072