ค้นหาบล็อกนี้

วิธีพิทักษ์ รักษ์โลกของเรา

"เราทำได้ คุณก็ทำได้"
ลดปริมาณขยะ
ลดการใช้พลังงาน
เพิ่มอ๊อกซิเจนให้กับน้ำ
รักษาพันธุ์สัตว์ป่า

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปรอทในก๊าซธรรมชาติ


เมื่อพูดถึงปรอท ทุกคนจะนึกถึงปรอทที่อยู่ในเทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้วัดอุณหภูมิ หรือบาโรมิเตอร์ที่ใช้วัดความดันบรรยากาศ หรือมาโนมิเตอร์ที่ใช้วัดความดันเลือด ปรอทเป็นธาตุที่มีคุณอนันต์ ในขณะเดียวกันก็มีโทษมหันต์ ปรอทเป็นสารที่มีพิษร้ายแรงมาก สามารถดูดซึมผ่านระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และซึมผ่านทางผิวหนังถ้ามีแผลหรือรอยแตกและสะสมพิษเอาไว้ เนื่องจากปรอทเป็นธาตุที่ระเหยได้และสามารถอิ่มตัวในอากาศ จึงเป็นสารที่มีอันตรายมาก ได้มีมาตรฐานกำหนดปริมาณสารปรอทในอากาศหายใจ ซึ่งกำหนดโดย Envirnmental Protection Agency (EPA) ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้อากาศมีสารปรอทได้ไม่เกิน 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สารประกอบปรอทที่มีพิษมากที่สุดได้แก่ เมทธิลเมอร์คิวรี่ เมอร์คิวริกคลอไรด์ ซึ่งสามารถระเหิดได้และมีพิษกัดกร่อนสูง ก๊าซธรรมชาติบางแหล่งในโลกพบว่ามีไอของปรอท และสารประกอบเจือปนมาด้วย เช่น ที่โปแลนด์ รัสเซีย อัลจีเรีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในแหล่งอรุณ ประเทศอินโดนีเซีย พบว่ามีปริมาณสูงถึง 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ปรอทที่พบในก๊าซธรรมชาติของไทย ตรวจพบครั้งแรกในสภาพของเหลวค่อนข้างบริสุทธิ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2528 บริเวณอ่าวไทย ที่แหล่งปลาทอง และพบที่แหล่งสตูล เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2528 โดยเก็บได้ที่ Dew Point Control Unit ส่วนแหล่งเอราวัณ พบปรอทในสภาพเป็นของเหลว เมื่อเดือนสิงหาคม 2531 โดยเก็บได้ที่ Sample Line ของหัวสูบ (Wellhead) ก๊าซธรรมชาติที่มีปริมาณปรอทเจือปน จะมีผลต่อระบบท่อในโรงแยกก๊าซเพราะว่าปรอทมีคุณสมบัติที่จะรวมตัวกับโลหะได้เกือบทุกชนิดซึ่งเรียกว่า Amalgum ปฏิกิริยานี้จะทำให้โครงสร้างของโลหะผสมของท่อในโรงแยกก๊าซเสียหาย ดังนั้นการวิเคราะห์ปรอทในก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะปรอทมีผลทั้งต่อระบบท่ออุปกรณ์ และต่อสภาวะแวดล้อม

ปรอทที่พบในก๊าซธรรมชาติ จะอยู่ในรูปของไอปรอท และปะปนมากับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม เมื่อขึ้นสู่ปากหลุมหรือผ่าน Dew Point Control Unit (DPCU คือ จุดลดอุณหภูมิของก๊าซ เพื่อแยกของเหลวออกจากก๊าซ อุณหภูมิที่ใช้ต้องคำนวณโดยอาศัย Equilibrium ของก๊าซ) ปรอทจะแยกตัวออก ไอปรอทที่พบในก๊าซธรรมชาติมีอยู่ 2 รูป คือ อยู่ในรูปของธาตุปรอท และสารประกอบของปรอท โดยสารประกอบของปรอทที่พบในก๊าซธรรมชาติส่วนมาก ได้แก่ dimethylmercury (ไดเมทธิลเมอร์คิวรี) และ diethylmercury (ไดเอทธิลเมอร์คิวรี)

การเกิดปรอทในก๊าซธรรมชาติ จากการศึกษาโดย Arne Jernelov พบว่าปรอทเป็นธาตุที่หนัก เนื่องจากมีค่าความถ่วงจำเพาะประมาณ 13 และไม่ละลายในน้ำ ดังนั้นในการตกตะกอนซึ่งมักจะสะสมในบริเวณใกล้ปากแม่น้ำหรือปากอ่าว ปรอทจะสามารถรวมเป็นสารประกอบ (Form Complex) ได้อย่างแข็งแรงกับสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ จากนั้นจึงตกตะกอนรวมกับตะกอนอื่น ๆ โดยปรอทจะถูกออกซิไดส์ไปเป็น Bivalent lon (Hg+2) และ Hg+2 จะถูก methylate ไปเป็น methylmercury และ dimethylmercury จะอยู่ในน้ำ และสะสมในปลา สาหร่าย ตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในน้ำ ในขณะที่ dimethylmercury มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไปกับก๊าซออกสู่บรรยากาศภายนอก ภายใต้สภาวะที่เป็นกรด และมีแสงอุลตราไวโอเลต dimethylmercury จะไม่คงตัวและถูกเปลี่ยนไปเป็น methylmercury ซึ่งอาจตกตะกอนหรือถูกเปลี่ยนไปเป็นธาตุปรอท ขบวนการต่าง ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับขบวนการทางเคมี ชีวะและฟิสิกส์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ในสหรัฐอเมริการายงานว่าสารประกอบไฮโดรคาร์บอน จะเกิดร่วมกับปรอท ที่เมือง Mt.idlo ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียพบว่าปรอทเกิดร่วมกับน้ำมันดิบและก๊าซ ที่แหล่งปิโตรเลียม Cymric ใน Kern County มลรัฐแคลิฟอร์เนีย พบธาตุปรอทและสารประกอบของปรอท ในน้ำมันดิบ ก๊าซ และ Saline Oilfield Water และพบว่าก๊าซธรรมชาติที่แยกออกจากน้ำมันดิบจะอิ่มตัวด้วยไอปรอท

ปัจจุบันการพบปรอทในก๊าซธรรมชาติไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ เพราะพบปรอทในก๊าซธรรมชาติหลายแหล่งทั่วโลก และมีปริมาณปรอทสูง ดังนั้นถ้าหากมีการกำกับดูแลปริมาณปรอทในก๊าซให้เป็นไปตามมาตรฐาน และมี Mercury Absorber ติดตั้งก่อนเข้าโรงแยกก๊าซ รวมทั้งการกำจัดปรอทในน้ำซึ่งแยกออกจากก๊าซธรรมชาติในขบวนการผลิต ปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นจากกิจการปิโตรเลียม จะลดน้อยลงมาก
ที่มา http://www.school.net.th/library/snet6/envi3/parod/parodn.htm

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ของจุดน้ำจืดสูงสุด (Peak Water)

วิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ของจุดน้ำจืดสูงสุด (Peak Water)
สฤณี อาชวานันทกุล


ในวิถีการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ผ่านมากว่า 200 ปี คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า วิชาเศรษฐศาสตร์มีส่วน “ทำบาป” ทางทฤษฎีและวิถีปฏิบัติไม่น้อยเลย แต่บาปหลายประการซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักควรจะยอมรับและไถ่บาปอย่างเร่งด่วน เพราะมันสร้างความเสียหายและทำให้รัฐทั่วโลกดำเนินนโยบายผิดพลาดอย่างต่อเนื่อง มีรากมาจากความเข้าใจผิดสองข้อเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ

ความเข้าใจผิดข้อแรกคือ การมองไม่เห็นว่า “ทุนทางสังคม” และกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนสามารถมีประสิทธิภาพดีได้ และในหลายกรณีมีประสิทธิภาพดีกว่าการตัดแบ่งทรัพยากรให้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลหรือให้รัฐจัดการควบคุมด้วยซ้ำไป (ประเด็นนี้ เอลินอร์ ออสตรอม นักเศรษฐศาสตร์สำนักสถาบันใหม่ (new institutional economics) เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2009 อธิบายอย่างแจ่มชัดในงานของเธอ ผู้เขียนจะหยิบมาเล่าสู่กันฟังต่อไป)

ความเข้าใจผิดข้อสองคือ การมองไม่เห็น “ขีดจำกัด” ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทรัพยากรที่มีวันหมด (ธรรมชาติไม่สร้างใหม่แล้ว) อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล และทรัพยากรที่ธรรมชาติสร้างใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่มนุษย์กำลังตักตวงหรือผลาญอย่างรวดเร็วเกินอัตราการฟื้นฟูของธรรมชาติ อาทิ อากาศบริสุทธิ์ แหล่งประมงในทะเลหลายแห่ง และแหล่งน้ำจืด


เมื่อพูดถึงน้ำจืด คำว่า “จุดน้ำจืดสูงสุด” (peak water) เพิ่งได้รับการประดิษฐ์เมื่อไม่นานมานี้เอง คำอธิบายที่ชัดที่สุดคือคำอธิบายของ ปีเตอร์ กลีก (Peter Gleick) และ มีนา พาลาเนียบพัน (Meena Palaniappan) ในบทความซึ่งได้รับการตีพิมพ์ปี ค.ศ. 2010 ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เรื่อง “Peak water limits to freshwater withdrawal and use” (“จุดน้ำจืดสูงสุดของการตักตวงและใช้น้ำจืด”)


คำว่า “จุดน้ำจืดสูงสุด” อาจทำให้หลายคนประหลาดใจ เป็นไปได้อย่างไรที่น้ำจืดจะหมด? ในเมื่อธรรมชาติมี “วัฏจักรของอุทกวิทยา” หรือเรียกสั้นๆ ว่า วัฏจักรน้ำ ซึ่งทุกคนต้องเรียนตั้งแต่เด็ก แต่กลีกและพาลาเนียบพันยืนยันว่า เราอาจเข้าสู่ “จุดน้ำจืดสูงสุด” ได้จริง เพราะในหลายพื้นที่เรากำลังใช้น้ำในปริมาณและอัตราที่เร็วกว่าการฟื้นฟูของวัฏจักรน้ำในธรรมชาติ

ก่อนอื่นพวกเขาเท้าความว่า ภาวะขาดแคลนน้ำกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในหลายภูมิภาคทั่วโลก (อ่านมุมมองและข้อเสนอของนักสิ่งแวดล้อมบางส่วนได้ใน “วิกฤตน้ำและทางออก : ข้อคิดจาก เลสเตอร์ บราวน์”) เสร็จแล้วกลีกและพาลาเนียบพันก็สรุปเรื่อง “จุดผลิตน้ำมันสูงสุด” (Peak Oil) และเปรียบเทียบกับจุดน้ำจืดสูงสุดเพื่อให้เราเห็นภาพชัดขึ้น ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างน้ำกับน้ำมัน (นอกจากว่ามันเข้ากันไม่ได้) คือ น้ำมันมีจำกัด หมดแล้วหมดเลย ส่วนน้ำอาจมีจำกัดเฉพาะในระดับท้องถิ่น ในระดับโลกอาจมีไม่จำกัดถ้าหากเราลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำจืดใหม่ๆ แต่ในทางกลับกัน น้ำมันในฐานะแหล่งพลังงานมีสิ่งที่ใช้ทดแทนได้มากมาย อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ แต่ไม่มีอะไรที่สามารถทดแทนน้ำได้ กลีกและพาลาเนียบพันสรุปความแตกต่างระหว่างน้ำกับน้ำมันเป็นตารางต่อไปนี้


จุดน้ำจืดสูงสุดนั้นคล้ายกันกับจุดผลิตน้ำมันสูงสุดในแง่ที่ว่า ขณะที่เราเข้าใกล้มัน เราต้องเลือกว่าจะตอบสนองต่อความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไร ทางแรกคือหาทางลดความต้องการใช้น้ำลง (เช่น รณรงค์หรือบังคับให้คนประหยัดน้ำ) ทางที่สองคือเปลี่ยนวิธีใช้น้ำ เปลี่ยนจากการใช้มูลค่าต่ำไปสู่การใช้ที่มีมูลค่าทางสังคมหรือเศรษฐกิจสูงกว่า ทางที่สามคือย้ายความต้องการไปสู่บริเวณที่มีน้ำเหลือเฟือ ทางที่สี่คือลงทุนเพิ่ม เช่น ขนส่งน้ำมาจากที่อื่น หรือลงทุนในน้ำทะเลซึ่งมีไม่จำกัด เช่น แยกเกลือออกจากน้ำทะเล (desalination) ให้คนบริโภคได้ กระบวนการนี้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้วในหลายพื้นที่ อาทิ ซาอุดิอาระเบีย อิสราเอล สิงคโปร์ และบางประเทศในทะเลคาริบเบียน

พูดง่ายๆ คือ มนุษย์ย่อมตักตวงแหล่งน้ำซึ่งมีต้นทุนถูกก่อน พอถึงจุดคุ้มทุนสูงสุดก็ต้องเปลี่ยนไปใช้แหล่งน้ำที่แพงกว่าเดิม เช่น แยกเกลือออกจากน้ำ เพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นน้ำก็จะขาดแคลน ปริมาณน้ำที่ผลิตได้จึงมีลักษณะเป็น “ขั้นบันได” ดังรูปด้านล่างนี้


กลีกและพาลาเนียบพันอธิบายว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่ทั้งทดแทนได้และไม่ได้ มันทดแทนได้ในแง่ที่ไหลเวียนและเปลี่ยนรูปได้อย่างรวดเร็ว (flow) การใช้น้ำของมนุษย์ปกติไม่มีผลต่ออัตราการฟื้นฟูของวัฏจักรน้ำในธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม น้ำก็ทดแทนไม่ได้เหมือนกันในแง่ที่มันสะสมเป็น “คลัง” (stock) ใต้ดินในระดับท้องถิ่น น้ำใต้ดินท้องถิ่นคล้ายกันกับน้ำมัน ตรงที่อัตราการสูบขึ้นมาใช้ของมนุษย์นั้นรวดเร็วกว่าอัตราการฟื้นฟูของชั้นหินอุ้มน้ำ (นักวิทยาศาสตร์มักจะเรียกชั้นหินนี้ว่า ชั้นหิน “ฟอสซิล” เพราะมันฟื้นฟูช้ามาก)


การสูบน้ำบาดาลเกินกำลังการฟื้นฟูของธรรมชาติอาจส่งผลกว้างไกลกว่าภาวะขาดแคลนน้ำ นักวิจัยในอินเดียกลุ่มหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้พบว่า อินเดียใช้น้ำมหาศาลจากการสูบน้ำบาดาลที่ทดแทนไม่ได้ และน้ำเหล่านั้นก็ไปลงเอยในทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแต่ระดับน้ำใต้ดินลดลงอย่างฮวบฮาบ ทั้งหมดนี้ยังไม่นับว่าภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะซ้ำเติมให้ภาวะขาดแคลนน้ำเลวร้ายลงอีกมากในอนาคต

ถึงที่สุดแล้ว แนวคิด “จุดน้ำจืดสูงสุด” ไม่ได้ตอบคำถามว่า น้ำจืดจะ “หมด” เมื่อไร แต่เป็นคำเตือนให้เราตระหนักว่า บนดาวเคราะห์สีฟ้าของเราดวงนี้ มีน้ำเพียงร้อยละ 3.5 ของน้ำทั้งโลกเท่านั้นที่เป็นน้ำจืด และในจำนวนนี้มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เราใช้ได้ – ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า เรากำลังจะมองเห็นขีดจำกัดที่ชัดเจนของความต้องการใช้น้ำในหลายพื้นที่ทั่วโลก และ “การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กหรือไร้สาระอีกต่อไปแล้ว

ที่มา>>http://www.greenworld.or.th/columnist/ecosaveworld/1381

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เตือนดินถล่มรุนแรง!!

กรมอุทยานฯ สั่งเฝ้าระวัง 6 จุดเสี่ยงน้ำท่วม-ดินถล่ม ในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ ชี้อาจรุนแรงเหมือนเกิดที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้ นายมาโนช การพนักงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ให้ข้อมูลเข้ามาเป็นการด่วนว่าบริเวณเขาเขียว ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ ไม่กี่วันมานี้มีฝนตกปริมาณ 300 มิลลิเมตรในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งตนสั่งให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะหากฝนตกติดต่อกัน3วัน อาจเกิดเหตุน้ำท่วมดินถล่ม ซึ่งจัดว่าเป็นพื้นที่ที่อันตรายจึงขอเตือนว่าอย่าเข้าไปอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว...


ที่มา :http://www.thairath.co.th/content/region/188326

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สูดโอโซน ดีจริงหรือ?

สูดโอโซน ดีจริงหรือ?
เรื่อง เฟื่องฟ้า


พอถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ หลายคนมักติดปากว่าอยากไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัดเพื่อสูดโอโซน ทว่าการพูดเช่นนั้นแสดงว่าคุณยังไม่รู้จักโอโซนดีพอ

ความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ว่านี้อาจเป็นเพราะโมเลกุลของโอโซนประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม คนทั่วไปเลยคิดเป็นตุเป็นตะเอาเองว่าออกซิเจนยิ่งมากก็ยิ่งหมายถึงอากาศบริสุทธิ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอโซนมีทั้งที่ดีและไม่ดี

โอโซนที่ดีจะอยู่ในระดับความสูงเหนือพื้นดินมากกว่า 40 กิโลเมตรขึ้นไป โดยเฉพาะในชั้นสตราโทสเฟียร์ ส่วนโอโซนที่ไม่ดีคือโอโซนที่อยู่เหนือระดับพื้นดินไม่เกิน 2 กิโลเมตร เพราะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา จมูก คอ และหากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากก็อาจเป็นอันตรายต่อปอดและเสียชีวิตได้ สิ่งที่ก่อให้เกิดโอโซนในระดับต่ำ ก็เช่น ควันของรถยนต์ เป็นต้น

สำหรับโอโซนที่ดีจะทำหน้าที่กั้นรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดบี (UVB) ซึ่งมีความยาวคลื่น 280-320 นาโนเมตร ส่องมายังโลกในปริมาณที่มากจนเกินไป เนื่องจากเจ้ารังสี UVB นี้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีผลทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ต้อเนื้อ ต้อลม ส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์ เช่น ทำให้พืชแคระแกร็น รวมทั้งยังทำให้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เปราะและหักพังเร็วขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่โลกสีฟ้าของเราใบนี้กำลังเผชิญอยู่ก็คือ รูรั่วโอโซน ส่งผลให้รังสี UVB ส่องผ่านมายังผิวโลกได้มากขึ้น จากการสำรวจโดยเครื่องบิน บอลลูน และดาวเทียม ตลอดจนข้อมูลขององค์การนาซา และ National Oceanic Atmospheric Administration (NOAA) ในปลายปี ค.ศ. 1970 พบว่า โอโซนในอวกาศมีแนวโน้มลดลงมาตลอด

หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1986 มีนักวิทยาศาสตร์ที่สำรวจโอโซนในช่วงฤดูใบไม้ผลิบริเวณซีกโลกใต้เหนือทวีปแอนตาร์กติกด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ด็อบสันสเปคโตรโฟโตมิเตอร์ (Dobson Spectrophotometer) พบว่า ปริมาณโอโซนลดลงเหลือเพียง 88 DU (Dobson Unit) ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 220 DU

สาเหตุที่ชั้นโอโซนถูกทำลาย เกิดจากสารพวกฮาโลคาร์บอน (Halocarbon) ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่มีส่วนประกอบของธาตุคลอรีน ฟลูออรีน โบรมีน คาร์บอน และไฮโดรเจน โดยสารที่เป็นตัวการสำคัญๆ เช่น คลอโรฟลูออโรคาร์บอนหรือ CFC ฮาลอน คาร์บอนเตตระคลอไรด์ เมธิลคลอโรฟอร์ม ซึ่งสารเหล่านี้นิยมใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยปัจจุบันมีความพยายามพัฒนาสารทดแทนที่เป็นมิตรกับโอโซนขึ้นมาใช้แทน และหวังว่าการสูญเสียโอโซนจะหมดไปในอนาคต

"แต่ไปเที่ยวทะเลหรือดงดอยคราวหน้า คงไม่มีใครปรารถนาไปสูดโอโซนอีกแล้วนะ"

ที่มา>>http://www.greenworld.or.th/greenworld/population/1344

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ดีหรือร้าย เมื่อสายการบินของยุโรปหันมาใช้พลังงานชีวภาพ?



เรียบเรียง เสมอชน ธนพัธ

สายการบินรายใหญ่ของยุโรป ไม่ว่าบริติชแอร์เวย์, ลุฟต์ฮันซา, แอร์ฟรานซ์ (เคแอลเอ็ม) ประกาศจะใช้พลังงานชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงหลักในการบิน ทั้งที่องค์การสหประชาชาติเตือนถึงข้อจำกัดการเติบโตของพลังงานชนิดนี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในงาน Paris Air Show 2011อุตสาหกรรมการบินชั้นนำของยุโรปโหมประชาสัมพันธ์แผนที่จะเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่ทำมาจากพืชพลังงาน เช่น ปาล์มน้ำมัน และสบู่ดำ

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้เคยตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2020 เชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคคมนาคมขนส่งจะต้องมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 10 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนหนึ่งได้ผลักดันให้ภาคการบินใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ 2 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพจะทำให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในภูมิภาคเขตร้อน และนำมาซึ่งการบุกรุกทำลายป่าในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย แคมารูน เป็นต้น ขณะที่องค์การสหประชาชาติระบุว่า การทุ่มปลูกพืชพลังงาน ก็จะทำให้พื้นที่ปลูกพืชอาหารลดน้อยลง และจะเป็นแรงกดดันให้ราคาอาหารสูงขึ้น

อนึ่ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 2 ล้านตัน เชื้อเพลิงชีวภาพที่ต้องผลิตเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับการเติมเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์ได้ 40 ล้านคัน และต้องใช้พื้นที่ปลูกพืชพลังงานเท่ากับขนาดของประเทศเบลเยียม

สายการบินโหมประชาสัมพันธ์

สายการบินแอร์ฟรานซ์ (เคแอลเอ็ม) เปิดเผยว่า ภายในเดือนกันยายนนี้ จะมีเที่ยวบินให้บริการไม่ต่ำกว่า 200 เที่ยวบินที่ใช้พลังงานชีวภาพ ซึ่งเป็นการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ด้านบริติชแอร์เวย์เอง ก็กำลังสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ

วิลเลียม แมกเลนเนน คอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์ The Ecologist ให้ความเห็นว่า ผู้นำอุตสาหกรรมการบินทั้งหลายควรระมัดระวังเรื่องการส่งเสริมพลังงานชีวภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งเรียกร้องให้แหล่งปลูกพืชพลังงานมาจากภายในยุโรปเอง

อย่างไรก็ตาม Neste Oil บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีแผนจะผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพป้อนสายการบิน พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นปาล์มน้ำมัน ส่วนใหญ่มาจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าฝนเขตร้อนของประเทศนั้น

ยิ่งไปกว่านั้น สายการบินลุฟต์ฮันซาที่จัดทำแผนระยะ 6 เดือน ก็ตั้งใจว่าจะใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากสบู่ดำ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีรายงานจากองค์กรการกุศล ActionAid ชี้ว่า ในการปลูกพืชสบู่ดำจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล 2.5 – 6 เท่า

ร็อบบี้ เบลก นักรณรงค์กลุ่ม Friends of the Earth กล่าวว่า สายการบินต่างๆ เหล่านี้ อย่างเช่นบริติชแอร์เวย์ กำลังใช้เรื่องพลังงานหมุนเวียนและการโฆษณามาเป็นฉากบังหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง

“ปาล์มน้ำมันและสบู่ดำที่เป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ มันไม่ได้มาจากในยุโรป แต่เป็นการนำเข้าที่มีต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจำนวนมาก” เบลกกล่าว

พอๆ กับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อต้นเดือนนี้องค์การสหประชาติออกมาเตือนว่า การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจะทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเรียกร้องให้หยุดสนับสนุนการปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งปลูกพืชอาหาร



เรียบเรียงจาก “European airlines to start controversial biofuel-powered flights” จาก www.theecologist.org/

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

"เปี่ยมศักดิ์" นั่งแท่นประธานบอร์ดอิสระด้านสิ่งแวดล้อม

"เปี่ยมศักดิ์" นัดประชุมเลือกประธานบอร์ดกรรมการองค์การอิสระสวล.ตามมาตรา 67 สุดท้ายได่นั่งเองใช้ผลโหวต ไม่ครบองค์ประชุม
ภายหลัง นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ อดีตประธานคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(กอสส.) พร้อมด้วย น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง และนายวีระพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการ กอสส.ได้ขอลาออกจากการหน้าที่ โดยให้เหตุผลเรื่องปัญหาความไม่โปร่งใสในการทำงาน และมีความขัดแย้งในการทำงานร่วมกับคณะกรรมการ กอสส.จากสายวิชาการ
ล่าสุดวันที่ 12 ก.ค.นี้ นายเปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต รองประธาน กอสส. ได้เชิญกรรมการที่เหลือจำนวน 9 คน เข้าประชุม เพื่อเลือกประธาน กอสส. คนใหม่ แทนนายวีรวัธน์ และเลือกกรรมการอีก 2 คนที่ขอลาออกทันที โดยผลปรา กฎว่า นายเปี่ยมศักดิ์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธาน กอสส.คนใหม่ ส่วนนายสุรพล ดวงแข เป็นรองประธาน กอสส.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้คณะกรรมการ กอสส. บางราย ขอให้นำเรื่องนี้เสนอต่อคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เพื่อให้มีการตรวจสอบคุณ สมบัติของผู้ที่อยู่ในรายชื่อสำรองลำดับที่ 1 และเสนอให้นายกรัฐมนตรี ลงนามประกาศรายชื่อกรรมการ เพื่อให้ครบ 12 ท่าน จากนั้นจะได้เลือกประธาน กอสส. ซึ่งกรรมการประสานงานการให้ความเห็นฯ หลายท่านได้ทราบเรื่องนี้แล้ว แต่ปรากฎว่าการประชุมครั้งนี้กลับรีบร้อนที่จะแต่งตั้งประธานคนใหม่ ทั้งที่ไม่ครบองค์ประชุม
นายศุภกิจ นันทะวรการ กรรมการ กอสส. ยอมรับว่าที่ประชุมได้มีทั้งเสียงที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการคัดเลือกประธานกอสส.คนใหม่ เนื่องจากเห็นว่ามีกรรมการที่เข้าประชุมเพียง 9 คนเท่านั้น โดยขาดน.ส.เพ็ญโฉม นายวีระพงษ์ และนายสัญชัย สูติพันธ์วิหาร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้กำลังมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการโรงงานเอทิลเบนซีนสไตรีนโมโนเมอร์ (ขยายกำลังการผลิต) ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ที่จะส่งมาให้กอสส.ให้ความเห็นประกอบ รวมทั้งยังมีโครงการของบริษัท ทีโอซี ไกลคอล ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)จะ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 22 ก.ค.นี้
“ โดยเหตุผลเรื่องการทำงานของกอสส. ที่ต้องเดินหน้าต่อ ทำให้คณะกรรมการฯ จึงจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งประธานกอสส. ในการประชุมครั้งนี้ โดย ใช้วิธีการโหวตจาก 9 คน โดยลงคะแนนแบบเปิดเผย ปรากฎว่านายเปี่ยมศักดิ์ ได้รับการโหวตรวม 7 เสียง แต่ผม กับ น.ส.ศยามล ไกรยูรวงศ์ ขอสงวนสิทธิ์ในการออกความเห็น อย่างไรก็ตาม หลัง จากนี้ทางสำนักงานกอสส.ก็จะทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการประสานงานประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามขั้นตอน ” นายศุภกิจ ระบุ

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ฮือฮา!พบฝูงวาฬบรูด้า โผล่หากินบางแสน-เขาสามมุก

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ เผยพบวาฬแม่-ลูก ที่เคยหากินทะเลสมุทรสาคร โผล่พร้อมฝูงปลาวาฬบรูด้าอีก 5 ตัว แถวทะเลเขาสามมุกกับบางแสน นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 4 ปี...

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทช. โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้สำรวจพบปลาวาฬคู่แม่ลูก “แม่ข้าวเหนียว” และลูก “เจ้าส้มตำ” บริเวณนอกชายฝั่ง จ.สมุทรสาคร เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และในต้นเดือนก.ค.นี้ ได้สำรวจพบว่า แม่ลูกคู่นี้หากินฝูงปลากะตักอยู่ใกล้ชายฝั่งบริเวณเขาสามมุข-หาดบางแสน จ.ชลบุรี โดยพบว่า “เจ้าส้มตำ” มีขนาดความยาวเพิ่มขึ้นจาก 6 เมตร เป็น 7 เมตรเศษ และยังคงหากินใกล้ชิดกับ “แม่ข้าวเหนียว” ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังพบปลาวาฬขนาดใหญ่อีก 5 ตัว รวมทั้งหมดจำนวน 7 ตัว หากินในบริเวณเดียวกันนี้ ในรัศมีห่างฝั่ง 2-5 กิโลเมตร น้ำลึก 10-11 เมตร ซึ่งปลาวาฬอีก 5 ตัว ที่พบในครั้งนี้เป็นตัวที่มีตำหนิชัดและตั้งชื่อแล้ว 3 ตัว คือ “เจ้าวันดี”, “เจ้าชัดเจน” และ “เจ้านำโชค” ทั้ง 3 สามตัวนี้พบหากินนอกชายฝั่ง จ.เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร เมื่อเดือน เม.ย.ถึงมิ.ย. และในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สำรวจพบปลาวาฬบรูด้าบริเวณเขาสามมุข-หาดบางแสน จ.ชลบุรี เพียง 3 ครั้งเท่านั้น

นายเกษมสันต์ กล่าวต่อว่า กล่าวได้ว่า อ่าวไทยตอนบนเป็นแหล่งอาหารของปลาวาฬบรูด้าที่สำคัญมาก ซึ่งอาหารหลักได้แก่ ฝูงปลาขนาดเล็ก เช่น ปลากะตักและปลาหัวตะกั่ว เป็นต้น การจำแนกประชากรปลาวาฬบรูด้าโดยใช้ภาพถ่ายนั้น พบว่ามีจำนวนทั้งหมด 35 ตัว มีพื้นที่หากินส่วนใหญ่คืออ่าวไทยตอนบน และบางฤดูกาลจะอพยพย้ายตามอาหารลงไปทางใต้

ขณะเดียวกัน ทช.ยังมีโครงการศึกษาพฤติกรรมของปลาวาฬบรูด้าโดยใช้เสียงร้อง กับนักวิจัยต่างประเทศในเร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปชมปลาวาฬบรูด้าให้ปฏิบัติตามคู่มือการชมโลมาและปลาวาฬ ซึ่งสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ของ ทช. และ ทช. รวมทั้งกำลังดำเนินการจัดทำเอกสาร เรื่องภาพถ่ายของปลาวาฬบรูด้า หากท่านสนใจเข้าร่วมงานอนุรักษ์ปลาวาฬบรูด้าของประเทศไทย สามารถเข้าร่วมโครงการแจ้งข่าวสารการพบเห็นปลาวาฬบรูด้ากับ ทช. ได้ในโอกาสต่อไป


>>>ที่มา http://www.thairath.co.th/content/region/184864

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หมอดินดีเด่นเมืองพะเยา ยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่

เมื่อก่อน นายผล มีศรี หมอดินอาสาประจำ อ.ภูซาง จ.พะเยา ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว โดยปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดสลับกันไปในแต่ละปี และมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีจำนวนมาก โดยไม่ได้อนุรักษ์และปรับปรุงบำรุงดินส่งผลให้หน้าดินเสีย ดินเกิดความเสื่อมโทรม ผลผลิตก็ไม่ดี จึงคิดว่า ถ้าปลูกเชิงเดี่ยวต่อไปไม่ไหวแน่...ประจวบเหมาะที่ในช่วงปี 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เขาจึง

เข้าร่วมโครงการกับกรมพัฒนาที่ดิน โดยยึดแนวทางการทำการเกษตรแบบผสมผสานและพึ่งพาตนเองเป็นหลัก นายผล เล่าว่า ในปีเดียวกันจึงได้สมัครเข้าไปเป็นหมอดินอาสากับสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา ซึ่งก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สารขับไล่แมลงจากผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.ของกรมพัฒนาที่ดิน ตลอดจนวิธีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชปุ๋ยสด ปูนโดโลไมท์ หญ้าแฝก ซึ่งตนก็ได้นำความรู้ที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดิน ทั้งจากการไปศึกษาดูงานในที่ต่าง ๆ ตลอดจนนำมาประยุกต์กับภูมิปัญญาของตนเอง จนกระทั่งสามารถวางแผนปรับ ปรุงพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินประจำตำบลภูซางของกรมพัฒนาที่ดิน


สำหรับรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เขานำหลักการพัฒนาที่ดินมาใช้ จะแบ่งตามความเหมาะสมของที่ดิน และสภาพพื้นที่ ได้แก่ ดินเหนียวที่ลุ่มจะทำการปลูกข้าวนาดำ ดินทรายที่ดอนจะปลูกไม้ผล ได้แก่ ลำไย ส่วนดินลูกรังที่ดอนจะปลูกยางพารา นอกจากนี้ ยังแบ่งพื้นที่เพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และทำคอกสัตว์ทั้งสุกร เป็ด ไก่ โค กระบือ

ช่วงแรกก็ทำนาแต่ด้วยลักษณะดินที่ความอุดมสมบูรณ์ต่ำและราคาผลผลิตตกต่ำจึงเปลี่ยนมาปลูกยางพาราแทน นอกจากนี้ ยังได้ขยายการปลูกยางพาราในสวนลำไย เพราะเล็งเห็นว่าลำไยสามารถให้ผลผลิตได้เพียงไม่นานอีกทั้งราคาตกต่ำตลอด แต่ยางพาราสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 9 เดือนใน 1 ปี แถมราคาดีด้วย เนื่องจากขณะนี้ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท แต่ถ้าเราขายได้ในราคาที่กิโลกรัมละ 50 บาทเราก็อยู่ได้แล้ว

มิหนำซ้ำเราปลูกพืชตระกูลถั่วในสวนเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดให้พืชได้นำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่กับทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ที่มาจากวัสดุในแปลงไม่ว่าจะเป็นเศษไม้ยางพารา ใบลำไย มูลสัตว์มาหมักกับสารเร่ง พด.1 เพียง 60-90 วันก็จะได้ปุ๋ยไว้ใช้บำรุงต้นบำรุงรากยิ่งทำให้ผลผลิตดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการปลูกด้วยวิธีนี้จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่ในเกรดเอ ทั้งลำไยและยางพารา จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

>>>>ที่มา http://www.en.mahidol.ac.th/thai/news/envi_news_full.php?id=1072

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

















วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ขอบเขตพื้นที่ของพืชเศรษฐกิจนามว่า “ยางพารา”


ท่ามกลางยุคสมัยที่นับวันมีแต่จะให้ความสำคัญกับวิถีแห่งเงินตรา จน(เกือบ)ทุกสิ่งสามารถแลกเปลี่ยนได้ด้วยเงิน จะแปลกอะไรถ้าชาวบ้านทุกสาขาอาชีพจะก้มหน้าก้มตาสะสมให้มากเข้าไว้ เพราะนั่นอาจหมายถึงหนึ่งในหลักประกันความมั่นคงของชีวิตพวกเขา

ไม่เว้นแม้กระทั่งอาชีพที่สามารถเชื่อมโยงการอยู่-กินได้อย่างตรงไปตรงมาอย่าง “เกษตรกร”

ในเมื่อพืชผัก-ผลไม้สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้เพียงกิโลกรัมละหลักสิบ มิหนำซ้ำวันดีคืนดีบางชนิดยังต้องเจอกับราคาที่ดิ่งลงไปเป็นหลักหน่วยอย่างยากอธิบาย ทางเลือกใหม่อย่างการปลูก “ยางพารา” พืชที่เมื่อโตแล้วสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ถึงหลักร้อย จึงได้รับความสนใจจาก “เกษตรกร” ในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

ใครบ้างจะไม่อยากรวย ใครบ้างจะไม่อยากเป็น “เศรษฐีสวนยาง” ?

พืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณแถบลุ่มน้ำอเมซอน ประเทศบราซิล อย่าง “ยางพารา” สันนิษฐานว่าเริ่มต้นเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกราวปี 2444 โดยบิดาแห่งยางพาราไทยนามว่า พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) สมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ท่านได้เมล็ดพันธ์มาจากประเทศมาเลเซีย และลงมือปลูกยังผืนดินของประเทศไทยครั้งแรกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

ผลสำเร็จของการปลูกยางพาราเริ่มเด่นชัดแก่ชาวตรังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราว 3-4 ปี เนื่องจากเป็นยุคที่ราคาดีดตัวสูงขึ้นมาก การปลูกยางพาราจึงสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก

ต่อมาในปี 2451 หลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) ได้นำพันธุ์ยางไปปลูกยังภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกที่จังหวัดจันทบุรี จนกระทั่ง “ยางพารา” ได้แพร่หลายออกไปยังพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งค่อยๆ กระจายไปยังพื้นที่อื่นของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง

ในปี 2521 มีการเริ่มปลูกยางอย่างจริงจังที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการที่กรมวิชาการเกษตรและกรมประชาสงเคราะห์ได้ทดลองปลูกที่จังหวัดหนองคาย บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จนเมื่อประสบผลสำเร็จ จึงมีการส่งเสริมให้มีการปลูกยางพาราในพื้นที่ดังกล่าวอย่างจริงจัง กระทั่งปี 2545 พื้นที่ปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ขยายเป็น 19 จังหวัด รวมเนื้อที่กว่า 4 แสนไร่

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปลูก “ยางพารา” ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นก็คือ เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวหลายสิบปี และยังมีราคาผลผลิตที่สูงเป็นพิเศษ


ปี 2538-2539 ราคายางพาราเพิ่มสูงเกิน 30 บาทต่อกิโลกรัมเป็นครั้งแรก และลดลงต่ำกว่า 30 บาทอีกครั้ง ก่อนที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา จนกระทั่งปี 2553 ก็ทะลุ 100 บาทต่อกิโลกรัมในที่สุด และเมื่อไม่นานมานี้ ราคายางพาราในประเทศไทยก็ทะยานสูงเกือบสองร้อยบาทต่อกิโลกรัม (ราคาจากตลาดกลางหาดใหญ่ 7 เมษายน 2554 ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 173.29 บาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่ 169 บาทต่อกิโลกรัม)

ตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งวันนี้ ปริมาณ “สวนยาง” ของประเทศไทยมีแนวโน้มแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยมีเพียง 12.95 ล้านไร่ในปี 2547 ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนเป็น 17.96 ล้านไร่ในปี 2553 เป็นรองแค่อินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวที่มีพื้นที่นำมาเป็นอับดับหนึ่งที่ 21.47 ล้านไร่ในปี 2553

ทั้งๆ ที่ปริมาณ “สวนยาง” ของประเทศไทยจะน้อยกว่าอินโดนีเซียอยู่ราว 4 ล้านไร่ แต่การผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 979 พันตันในปี 2531 จนมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ปี 2534 ในจำนวน 1,341 พันตัน และ 3,072 พันตันในปี 2553 ส่วนอินโดนีเซียมีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 2,892 พันตันในปี 2553 ซึ่งน้อยกว่าประเทศไทยอยู่พอสมควร

ปัจจุบัน เราสามารถพบ “สวนยางพารา” ได้เกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย ข้อมูลจากสถาบันวิจัยยางบอกว่าทุกวันนี้มีจังหวัดที่ปลูกยางพาราแล้วมากกว่า 65 จังหวัด

หากแนวโน้มราคาของยางพารามีแต่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คงไม่แปลกอะไรที่เกษตรกรจำนวนมากจะให้ความสนใจ ยุติบทบาทวิถีเกษตรแบบกินได้ และเลือกให้ความสำคัญกับพืชพรรณราคาสูง

“ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ก็เดี๋ยวกรีดยางเอาน้ำยางไปขาย แล้วค่อยเอาเงินนั้นไปซื้ออาหารก็ได้” ทั้งที่สวนยางของเธอเพิ่งเจอกับเหตุการณ์ดินถล่มมาหมาดๆ หญิงเจ้าของสวนที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ยังพูดยิ้มๆ เมื่อเราถามติดตลกว่าปลูกแต่ยางเยอะแบบนี้ แล้วเวลาหิวๆ จะกินอะไรเหรอ

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตนักวิชาการป่าไม้ระดับ 7 กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็นว่า ภาวะที่พลังงานฟอซซิลขาดแคลน ส่งผลให้พืชพลังงานต่างๆ ทั้งปาล์ม อ้อย มันสำปะลัง รวมทั้ง “ยางพารา” กลายเป็นพืชที่มีผลผลิตที่ให้ผลตอบแทนสูง การขยายพื้นที่ปลูกจึงมีแต่จะสูงขึ้น อีกทั้งความ “ล้มเหลว” ของเกษตรแบบผสมผสานในวงกว้าง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการสร้างเนื้อสร้างตัวให้มั่งมี แค่พอมีพอกินยังลำบาก ทั้งจากภาวะราคาตลาดผันผวน ต้นทุนสูงจากปัจจัยการผลิต ฯลฯ เมื่อปลูกผลไม้ก็ขาดทุน ทำนาก็ไร้กำไร สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ พื้นที่เหล่านั้นไม่น้อยจึงปักหมุดใหม่ และฝากความหวังไว้ที่ “ยางพารา”

“การปลูกยางพารามันมีธุรกิจเกี่ยวข้องเยอะ ตั้งแต่ทำโรงงานการแปรรูปยางพาราแบบต่างๆ ไปจนกระทั่งผลิตกล้าขาย มันก็เกิดเป็นห่วงโซ่ทางธุรกิจ แล้วนักการเมืองบางคนเองก็มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจเหล่านั้น ในทุกๆ รัฐบาลจึงสนับสนุนจนเป็นเรื่องปกติในสังคม” อาจารย์เพิ่มศักดิ์ชี้ให้เห็นถึงโยงใยที่เกี่ยวเนื่อง

ประเทศไทยเคยมีแผนพัฒนาที่เกี่ยวกับยางพารา 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราครบวงจร (2542-2546) 2.ยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก ตามแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี (2548-2551) กลุ่มสงขลา-สตูล 3.การปรับโครงสร้างยางและผลิตภัณฑ์ยาง 2549-2551 และ 4.ยุทธศาสตร์การพัฒนายาง พ.ศ. 2552-2556

รศ.ดร. สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล จากคณะเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า แผนพัฒนาทั้ง 4 แผนไม่ปรากฏแนวทางพัฒนายางพาราในระดับต้นน้ำ หรือในระดับพื้นที่ที่ตั้งสวนยาง นั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการขยายการปลูกออกไปยังพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมาก

ประเทศไทยมีการบุกรุกพื้นที่ป่าไปปลูก “ยางพารา” เป็นจำนวนมาก หลายพื้นที่ในเขตป่าเขาหรือป่าต้นน้ำมีการรุกขึ้นไปจนถึงระดับที่สูงชันมาก อาทิเช่น

- อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า พื้นที่รอยต่อจังหวัดพัทลุง ตรัง และนครศรีธรรมราช จากพื้นที่ทั้งหมดราว 433,750 ไร่ แต่มีการเข้าไปปลูกยางพาราแล้วถึง 122,587 ไร่

- เขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าเขาหลง อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ก็เต็มไปด้วยพื้นที่สวนยางพาราจำนวนมาก

- การปลูกยางพาราในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 ของลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา โดยลุ่มน้ำชั้น 1 ที่มี 123,399 ไร่ ถูกบุกรุกเข้าไปแล้ว 37,389 ไร่ ขณะที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ที่มี 127,206 ไร่ ก็ถูกบุกรุกไปแล้ว 74,269 ไร่

- การลดลงของพื้นที่ป่าในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จากที่ปี 2528 มีป่าไม้ปกคลุมอยู่ประมาณ 1,173,000 ไร่ แต่เมื่อปี 2545 เหลือพื้นที่ป่าเพียง 658,000 ไร่เท่านั้น การลดลงของพื้นที่ป่าดังกล่าวส่วนใหญ่น่าจะถูกทดแทนด้วยการปลูกยางพารานั่นเอง

จากเอกสาร “ทำไมจึงไม่ควรปลูกยางพาราบนพื้นที่ต้นน้ำ” โดยพงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล และพิณทิพย์ ธิติโรจนะวัฒน์ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานตามหน้าที่จากระบบนิเวศต้นน้ำ ไปเป็นระบบนิเวศยางพารา ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงจากระดับสูง โดยมีค่าคะแนนความหลากหลายทางชีวภาพ 49.60 มาเป็นระดับค่อนข้างต่ำ โดยมีคะแนนความหลากหลายทางชีวภาพเพียง 19.71 เท่านั้น

ขณะที่นานวันไป การปลูก “ยางพารา” ในทุกภูมิภาคของประเทศ มีแต่จะดันกรอบของคำว่า “สมดุล” ในเชิงพื้นที่ให้กว้างมากขึ้น โดยมีรายได้ที่สูงลิ่วมาเป็นสิ่งตอบแทน คำถามก็คือ พื้นที่ที่ไม่เหมาะสำหรับปลูกยางพารามีหน้าตาอย่างไร

ระวี ถาวร จากศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แสดงความเห็นว่า พื้นที่ไม่เหมาะสำหรับปลูกยางพาราแบ่งกว้างๆ ได้แก่

พื้นที่ที่ลาดชันมาก มีโครงสร้างดินที่เปราะบาง เพราะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดดินถล่ม สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังที่พบในภาคใต้อยู่ทุกๆ ปี ยิ่งเมื่อในอนาคตมีแนวโน้มพฤติกรรมของฝนที่เปลี่ยนมาตกปริมาณมากๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ ยิ่งทวีความเสี่ยงต่อดินถล่มที่จะรุนแรงมากขึ้น

พื้นที่ผลิตอาหาร ปัจจุบันการขยายตัวของพืชพลังงานทั้งปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง และ “ยางพารา” โดยมีปัจจัยจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นทุกปี ชาวบ้านบางพื้นที่ถึงกับเปลี่ยนที่นาทั้งแปลงมาปลูกยางพารา ไม่มีการปลูกข้าวกินเอง โดยหวังรายได้จากการขายผลผลิตยางพารา ส่งผลให้ชาวบ้านมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหาร และเมื่อพื้นที่เพาะปลูกพืชกินได้ลดลง ในอนาคตราคาอาหารก็จะสูงขึ้นตามมา

ระวี แสดงความเห็นต่อไปว่า หากมีการปลูกบนพื้นที่ลาดชัน สิ่งที่ควรทำก็คือ รูปแบบการปลูกแบบผสมผสานเพื่อสร้างความหลากหลาย เช่น ปลูกพืชแซมยางพารา ทั้งพืชอาหาร พืชป้องกันการพังทลายของหน้าดินที่มีหลากหลายระดับ ทั้งเรือนยอด และเรือนราก ไม่ควรทำแปลงติดกันเป็นผืนใหญ่ ควรเว้นแถบป่าธรรมชาติ หรือสร้างแถบป่าวนเกษตรที่ปลูกไม้ป่าที่มีระบบรากลึกกั้นเป็นแถบเป็นระยะตามเส้นระดับความสูง และควรปล่อยพื้นที่ป่าริมลำห้วยอย่างน้อย 5 เมตรสองฝั่ง ริมฝั่งน้ำเองก็ไม่ควรปลูกยางพาราจนชิด เพื่อลดการพังทลายของฝั่งน้ำ ในพื้นที่ลาดชัน ควรปลูกยางหลากหลายชั้นอายุ เพราะเมื่อยางพาราหมดอายุและตัดออกไป จะได้ไม่เกิดเป็นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่

“การปลูกพืชเชิงเดี่ยวแต่เพียงอย่างเดียวไม่ว่าชนิดไหนก็ตาม โดยไม่ปลูกพืชอาหาร พืชผัก เลี้ยงสัตว์เป็นแหล่งโปรตีน เป็นการสร้างความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารให้แก่ตนเอง” ระวี แสดงความเห็น

เขามองว่า รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมปลูกยางพาราโดยพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ป่าธรรมชาติที่มีความเสี่ยงต่อการบุกรุก พื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ จัดทำโซนนิ่งพื้นที่ที่เหมาะสม ให้ข้อมูลความเสี่ยงและผลกระทบแก่ชาวบ้าน และสร้างการมีส่วนร่วมในท้องถิ่นในการดูแล เช่น พัฒนาเป็นป่าชุมชน ผนวกเป็นพื้นที่คุ้มครองเพื่อลดความเสี่ยงของการบุกรุกพื้นที่จากทั้งนายทุนและชาวบ้าน นอกจากนี้ รัฐบาลเองก็ควรมีมาตรการคุ้มครอง และสร้างแรงจูงใจในการรักษาพื้นที่เกษตรกรรมอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ส่วนอาจารย์เพิ่มศักดิ์ มองว่า ตัวเกษตรกรเองก็มีข้อจำกัดในการคิดภาพใหญ่ เกษตรกรที่รวมกลุ่มก็มักจะมองแต่ประโยชน์ระยะสั้น มองการขายกล้า ได้กำไรจากการส่งยาง แม้การทำ “โซนนิ่ง” จะเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ก็เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากอยู่พอสมควร เพราะในทางปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายยังคาดประสิทธิภาพ มีอำนาจเงิน อำนาจอิทธิพล ในสถานการณ์จริงจึงยังไม่เกิดขึ้นเท่าใดนัก ที่สำคัญการบุกรุกที่ในระยะหลัง ชาวบ้านก็เป็นเพียงลูกจ้างไปกรีดยาง ขนส่งออกไปขายเท่านั้น ส่วนมากของที่ดินในปัจจุบันทั้งที่มีกรรมสิทธิ์และบุกรุก ล้วนเป็นของนายทุน นักการเมือง นักธุรกิจ และข้าราชการทั้งสิ้น

“ทางออกก็คือต้องบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด ที่ดินที่บุกเบิกไปยังพื้นที่ป่า ไปยังพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ใครไปครอบครอง เราก็ต้องเอาคืนกลับมา ไม่ต้องมีข้อยกเว้น มันก็ต้องเอามาสังคายนากัน มาปฏิรูปที่ดิน คนที่ถือครองมากๆ ก็กระจายออกมาให้ทั่วถึงและเป็นธรรม คนที่ไปบุกรุกอย่างผิดกฎหมายเขาก็ผิดจริงๆ เราก็ต้องให้เขามีที่ทำกิน คนเราถ้าไม่มีที่อาศัยที่ทำกิน ก็ต้องไปเป็นอาชญากรรม”

เมื่อถามว่าหากสิ่งที่เป็นอยู่ของสถานการณ์ “ยางพารา” ดำเนินไปอย่างขาดการรู้เท่าทัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคืออะไร ?

“ขณะนี้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสูงมากแล้ว ทั้งดินถล่ม น้ำท่วม สูญเสียหน้าดิน สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ฉะนั้นปัญหาเรื่องฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมันชัดเจนแล้ว

“เรื่องแบบนี้คงต้องใช้การศึกษาสะท้อนให้สังคมจัดการ ที่มันเป็นอย่างนี้ก็เพราะชุมชนและท้อนถิ่นไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากร มันยันไม่อยู่ พอไปติดที่เจ้าหน้าที่ มันก็จบ ดังนั้น ก็ต้องเอาอำนาจรัฐออกมา ให้ท้องถิ่นได้มีอำนาจในการจัดการทรัพยากร มีส่วนร่วมกับรัฐ มันก็จะดูแลกันได้มากขึ้น ในแง่การทำลายป่า มันก็จะมีคนโวยมากขึ้น มีหูมีตามากขึ้น” อาจารย์เพิ่มศักดิ์เสนอทางออก
>>>>ที่มา http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/1353