ค้นหาบล็อกนี้

วิธีพิทักษ์ รักษ์โลกของเรา

"เราทำได้ คุณก็ทำได้"
ลดปริมาณขยะ
ลดการใช้พลังงาน
เพิ่มอ๊อกซิเจนให้กับน้ำ
รักษาพันธุ์สัตว์ป่า

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

'โซลาร์ ฟาร์ม’ ขุมทรัพย์ใหม่ในตลาดพลังงานไทย

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องของพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องการนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า และพลังงานที่น่าจับตามมองที่สุดในตอนนี้ก็คงเป็น ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ เพราะหากพิจารณาดูแล้วก็เรียกว่าเป็นพลังงานที่เกื้อกูลธรรมชาติแทบจะที่สุด

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าร์ ฟาร์ม จึงค่อยๆ ผุดราวดอกเห็ดไปทั่วทุกทวีป ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่ดูเหมาะเจาะไปเสียหมดทั้งเรื่องแสงอาทิตย์อัดเจิดจ้าในยามกลางวัน และภูมิทัศน์แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เอื้อกับโรงไฟฟ้าประเภทนี้อย่างยิ่ง ด้านนโยบายพลังงานของไทยเองก็สนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกด้วยการให้เงินอุดหนุน บวกกับนโยบายที่ให้การไฟฟ้าฯ รับซื้อพลังงานอย่างไม่จำกัด

ซึ่งในปัจจุบันมีเอกชนที่เสนอขายไฟฟ้าต่อ กฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) แล้วกว่า 5,051.0 เมกะวัตต์ ในขณะที่เป้าหมายตามที่รัฐกำหนดไว้ในปี 2565 อยู่ที่ 5,604.0 เมกะวัตต์

นักลงทุนภาคเอกชนเองจึงมองเห็นขุมทรัพย์ในตลาดพลังงาน คลอดโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก อาทิ โครงการโซลาร์ฟาร์ม โคราช 1 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่สุดในอาเซียน ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ที่ทุ่มทุนกว่า 700 ล้าน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ร่วม 3 หมื่นแผง มีกำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ และเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ เมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมา โดยโกยรายเฉลี่ยวันละกว่า 4.3 แสนบาท ฯลฯ

อีกหนึ่งโครงการยักษ์ที่ไม่เอ่ยถึงคงจะไม่ได้ โครงการลพบุรี โซล่าร์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กำลังผลิต 73 เมกะวัตต์ ในจังหวัดลพบุรี ของบริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ที่มีมูลค่ากว่า8,000 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนว่าสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างก็ให้ความเชื่อมั่นในธุรกิจพลังงานประเภทนี้อยู่ไม่น้อย เพราะเดินหน้าสนับสนุนวงเงินกู้อย่างเต็มกำลังเช่นกัน

โซล่าร์ ฟาร์ม ในต่างแดน

ดวงอาทิตย์นั้นเป็นแหล่งรวมความร้อนขนาดมหึมา แม้จะอยู่ไกลนับล้านๆ กิโลเมตรก็ยังสัมผัสได้ถึง จึงไม่แปลกที่บรรดานักวิทยาศาสตร์หัวใส ต่างก็หวังจะนำพลังงานตรงนี้มาแปรสภาพเป็นกระแสไฟฟ้า ถึงแม้พลังงานชนิดนี้จะให้ผลที่ดีเกินคาด แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสำคัญอย่างเรื่องต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูงได้



อย่างไรก็ตาม หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้นโดยเฉพาะ 3 ประเทศมหาอำนาจอย่าง สเปน เยอรมนี และจีน ที่ดูจะจริงจังและเริ่มต่อยอดกับเรื่องนี้มากที่สุด ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 สเปนก็ได้เปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โรงไฟฟ้าเยมาโซลาร์ ที่สามารถผลิตไฟฟ้าในเวลากลางคืนเป็นแห่งแรกของโลก โดยใช้ระบบผลิตไฟฟ้าแบบหอพลังงาน ติดตั้งแผงพีวีเป็นแนวทรงกลมรวม 2,650 แผง ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,156 ไร่ โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 110 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ใน 25,000 ครัวเรือน

เช่นเดียวกับที่เยอรมนีก็มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งอยู่ในเมืองอาร์นสตีน ซึ่งอยู่ในหุบเขาและผลิตกระแสไฟฟ้าในลักษณะฟาร์มไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 12 เมกะวัตต์ สามารถป้อนไฟฟ้าหล่อเลี้ยงประชากรได้สูงถึง 900,000 คนเลยทีเดียว

หรือที่จีนมีโครงการจะสร้างโรงงานที่เมืองตงหวง มณฑลกานซู ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 31,000 ตารางเมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 100 เมกะวัตต์ โดยทุ่มเงินมากกว่า 30,640 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างเป็นเวลา 5 ปี โดยแว่วข่าวมาว่ารัฐบาลจีนจะใช้โรงไฟฟ้าตัวนี้เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าที่จะผลิตต่อไปทั่วประเทศ และต่อไปก็จะขยายธุรกิจด้วยการพลังงานไฟฟ้าไปยังต่างประเทศอีกด้วย

ความน่าจะเป็นในประเทศไทย

เมื่อหันกลับมามองทิศทางของพลังงานทดแทนชนิดนี้ในประเทศไทยก็ดูเหมือนว่าจะมีการตอบรับที่ดีไม่น้อย ทั้งภาครัฐก็มีนโยบายอุดหนุนพลังงานอย่างต่อเนื่อง ภาคประชาชนเองก็ไม่ได้มีการคัดค้านต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สุดท้ายรูปธรรมที่จับต้องได้ของมันก็กลายเป็นการร่วมทุนในภาคเอกชน

ดร. เดชรัตน์ สุขกําเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น อย่างแรกคือมีความเหมาะสมทางด้านทรัพยากร แม้ดวงอาทิตย์ไม่ได้มีแสงสว่างตลอดเวลา แต่ก็ถือว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับหนึ่ง

ด้านแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (Power Development Plan : PDP2010) ก็มีการกำหนดสัดส่วนของพลังงานทดแทนไว้ที่ร้อยละ 8.0 ซึ่งก็เอื้อให้กับธุรกิจพลังงานประเภทนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการลงทุนในเรื่องของพลังงานทดแทนก็ส่งผลให้ภาครัฐเกิดการชะลอตัวในการสร้างโรงไฟฟ้าไปได้ระยะหนึ่ง






“ตอนนี้พลังงานหมุนเวียนจะทำให้เขาลดการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าไปได้จำนวนหนึ่ง ถ้าถามว่าไม่มีพลังงานทดแทนแล้วเรายังเดินหน้าต่อได้ไหม...ได้ครับ พลังงานเราเพียงพอ ไม่ได้ขาด แต่ว่าการมีพลังงานทดแทนมันลดความจำเป็นในการสร้างเพิ่มขึ้น”

ทิศทางของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้นตลอด ด้านกระทรวงพลังงานเองก็สนับสนุนเงินทดแทน นโยบายของรัฐบาลเองก็พร้อมรับซื้อพลังงานจากเอกชนทั้งหมด ทิศทางของพลังงานชนิดนี้คงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หากรัฐบาลยังให้การสนับสนุนต่อภาคธุรกิจที่เข้ามาลงทุนทางด้านพลังงาน

ทั้งนี้ ดร. เดชรัตน์ ทิ้งท้ายในเรื่องแผนยุทธศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีว่า ควรกำหนดข้อตกลงการซื้อขายพลังงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมายังมีความหละหลวมกลายเป็นช่องทางฉกฉวยประโยชน์ต่อธุรกิจพลังงานของเอกชน อาทิ การออกใบอนุญาตซื้อขายพลังงาน แต่ถ้าเอกชนไม่สามารถทำตามสัญญาได้ก็ไม่ต้องถูกดำเนินการอะไร เพียงแต่ต้องแจ้งให้รัฐทราบล่วงหน้าเท่านั้น

ด้านสถาบันการเงินรายใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย ก็ร่วมเป็นหัวหอกในการปล่อยกู้เพื่อลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ นพเดช กรรณสูต ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจลูกค้าบรรษัท ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงปัจจัยทางด้านความเชื่อมั่นในการคืนทุนของธุรกิจพลังงานทดแทนว่า

“เรามองถึงการจัดโครงสร้างธุรกิจก่อน อย่างโครงสร้างของพลังงานแสงอาทิตย์มันมีส่วนประกอบที่สำคัญในเกณฑ์พิจารณาการปล่อยกู้ ไม่ว่าจะเป็น หนึ่ง-การพิจารณาทางด้านผู้ลงทุนก่อน เราจะต้องดูก่อนว่าผู้ลงทุนเองมีความตั้งใจในการลงทุนมากน้อยแค่ไหน และในส่วนของทักษะความเข้าใจเรื่องของธุรกิจ แล้วก็พิจารณาเรื่องความพร้อมของแหล่งเงินทุนมากแค่ไหน สอง-พิจารณาว่าเคยมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในต่างประเทศมาก่อนรึเปล่า หรือดูว่ามีการทำสัญญาการซื้อขายไฟกับภาครัฐไหม กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือเปล่า สุดท้ายคือดูว่าคนที่มารับเหมาก่อสร้างโครงการมีความเชื่อถือได้แค่ไหน ซึ่งทุกข้อมันอยู่ในมาตรฐานสากลอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้เราก็มีความสามารถมั่นใจได้ว่าธุรกิจพลังงานฯ สามารถที่จะคืนทุนได้”

แสงอาทิตย์ พลังงานทดแทนที่มาพร้อมเงิน

“คนทั่วไปในระดับประชาชนของประเทศเรายังไม่ตื่นตัวด้านพลังงานทางเลือก ซึ่งก็มีอยู่บ้างแต่ไม่มาก ประเด็นต่อมาถ้าเป็นในระดับผู้ประกอบการนั้นก็ตื่นตัวเพราะอยากได้ตังค์ การทำระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อขายไฟฟ้านั้น เรื่องนี้เขาทำกันมานานแล้วเป็นการทำเพื่อกำไร เขาไม่ได้มองเรื่องของพลังงานสะอาดเป็นอย่างแรกแต่มองเรื่องผลกำไรมากกว่า”

นันท์ ภักดี ตัวแทนจากอาศรมพลังงาน (สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม) กล่าวถึงอีกแง่มุมของการพลังงานทางเลือกเรื่องพลังงานทางเลือกในประเทศไทย ทั้งนี้ยังโต้แย้งถึงเรื่องค่าใช้จ่ายของระบบพลังงานแสงอาทิตย์ว่า แท้จริงแล้วไม่ได้สูงอย่างที่ทราบกัน

“ตอนนี้ที่จีนนั้น อุปกรณ์ในการนำมาใช้ทำระบบ ขายกันอยู่ที่วัตต์ละเหรียญหรือประมาณ 30 กว่าบาท แต่ในบ้านเราอุปกรณ์พวกนี้ขายกันวัตต์ละเป็นร้อยเลย ต่างกัน 3 เท่า เรี่องแบบนี้มันมีความซับซ้อนอยู่สูงเสียจนเราไม่สนใจมันด้วย”

นันท์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าทุกคนถูกหล่อหลอมว่าจะต้องทำไฟขายให้กับการไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งการไฟฟ้าก็เอาไปขายให้กับครัวเรือนอยู่ดี ดังนั้นมันก็แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนสามารถทำไฟใช้เองได้ แต่ไม่มีใครพูดเพราะสังคมไทยมองเรื่องผลประโยชน์เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามหากมองในภาพรวมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นถือเป็นเรื่องที่ดี ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขามูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นเป็นพลังงานที่สะอาดซึ่งมนุษย์ได้รับมาฟรีๆ แต่กลับยังไม่ได้นำมาใช้งานอย่างเต็มที่ และยังขาดการบริหารจัดการที่ดีพอของการใช้พลังงานหมุนเวียน เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นภาพใหญ่ ไม่ควรมองเฉพาะแค่พลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น

“พลังงานแสงอาทิตย์นั้นน่าใช้อยู่แล้วแต่มันก็มีข้อจำกัดอะไรหลายๆ อย่างในตัวมันเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะมองแยกส่วนไปเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ต้องมองเป็นภาพใหญ่ พิจารณาดูว่าศักยภาพของพื้นที่ที่เราตั้งอยู่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานประเภทไหน อย่างบ้านเรามีแสงแดดมาก มีชีวมวล ซึ่งสามารถนำมาแปลงเป็นพลังงาน แต่ก็ต้องมาดูว่าจะมีวิธีจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”

ดร.สรณรัชฎ์ทิ้งท้ายว่า การใช้พลังงานธรรมชาตินั้น ประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิต โดยภาครัฐจะต้องมีการผลักดันในเชิงเศรษฐกิจเพื่อจูงใจและส่งเสริมให้ประชาชนหันมาผลิตและใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น

“อย่างที่สเปนมีเป็นกฎหมายเลยว่าทุกบ้านจะต้องมีแผงโซล่าเซลล์ซึ่งการที่จะออกมาเป็นกฎหมายได้ก็ต้องมีการไปคิดระบบเศรษฐกิจที่จะมาสร้างแรงจูงใจและมาช่วยเหลือคนได้”



ก็ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วทิศทางของพลังงานทดแทนจะเพียงพอต่อความต้องการของมวลมนุษยชาติหรือไม่ แต่ถ้ามองภาพปัจจุบันการลงทุนในเรื่องพลังงานทดแทนผ่านโรงงานพลังแสงอาทิตย์ในเมืองไทยนั้น ได้กลายเป็นขุมทรัพย์ให้เหล่าภาคเอกชนเข้ามาลงทุนกันได้อย่างเสรีไปเรียบร้อยแล้ว...

ที่มา>>http://green.in.th/node/2566

กรมชลประทาน ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ จัดสัมมนาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน

กรมชลประทานร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ จัดสัมมนาครั้งใหญ่ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำยม-น่านให้เห็นผลเป็นรูปธรรม หวังได้แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำในระยะเร่งด่วน พร้อมกำหนดทิศทางดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นระบบ
นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะได้ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งเกิดจากการที่ประเทศไทยมีฝนตกหนักจากพายุนกเต็นมีผลทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่นั้น ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่11 สิงหาคม และ 16 สิงหาคม 2554 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัยซ้ำซากและการบริหารจัดการลุ่มน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้เร่งศึกษาทบทวนโครงการที่สามารถดำเนินการได้ในระยะเร่งด่วน


กรมชลประทานจึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลในด้านต่างๆ ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน รวมทั้งประชาชนที่ร่วมสัมมนากว่า 400 คน ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบันของทั้งสองลุ่มน้ำ อาทิ สภาพปัญหา โครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆที่กรมชลประทานได้ดำเนินการในระยะที่ผ่านมา ตลอดจนแผนงานยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน รวมทั้งรับทราบความต้องการและปัญหาต่างๆของทั้ง 2 ลุ่มน้ำ เพื่อกำหนดทิศทางร่วมกันในการพัฒนาลุ่มน้ำยม-น่านที่ถูกต้องและเหมาะสม และร่วมกำหนดแผนงานการพัฒนาและบริหารจัดการในระยะเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำ
สำหรับลุ่มน้ำยม มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาผีปันน้ำ อำเภอปง จังหวัดพะเยา ไหลผ่านจังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร แล้วไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่จังหวัดนครสวรรค์ รวมความยาวตลอดลำน้ำประมาณ 735 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมด 23,616 ตารางกิโลเมตร มีลุ่มน้ำย่อย 11 ลุ่มน้ำ คือแม่น้ำยมตอนบน แม่น้ำควร น้ำปี้ แม่น้ำงาว แม่น้ำยมตอนกลาง แม่คำมี แม่ต้า ห้วยแม่สิน แม่มอก แม่รำพัน และแม่น้ำยมตอนล่าง
อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะของลำน้ำยมที่เป็นคอขวดและไหลคดเคี้ยวไปมา รวมทั้งมีสภาพตื้นเขิน ทำให้การระบายน้ำไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะในช่วงตอนปลายของลุ่มน้ำ เมื่อมีฝนตกหนักจึงทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากสร้างความเสียหายอย่างมากแทบทุกปี ในขณะเดียวกันพอถึงฤดูแล้งก็จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน ปัจจุบันในพื้นที่ลุ่มน้ำยมมีการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยการก่อสร้างฝายปิดกั้นลำน้ำ และมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก แก้มลิงและโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเฉพาะในลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำยมเท่านั้น ซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำยมจนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 741 โครงการแต่สามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 406 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำท่าทั้งลุ่มน้ำที่มีมากถึง 4,100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ส่วนโครงการพัฒนาลุ่มน้ำยมนั้น ได้มีการศึกษาและวางแผนไว้ทั้งการพัฒนาโดยมาตรการไม่ใช้สิ่งปลูกสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำระบบเตือนภัย การปรับปรุงประสิทธิภาพการชลประทาน การผันน้ำหลาก การขุดลอกลำน้ำธรรมชาติ และการพัฒนาโดยมาตรการสิ่งก่อสร้าง เช่น ได้มีการพัฒนาพื้นที่รองรับน้ำและแก้มลิง 118 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร พัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดกลางจำนวนทั้งสิ้น 34 โครงการ สามารถเก็บน้ำได้ 348 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า ในส่วนของลุ่มน้ำน่านนั้นเป็นลุ่มน้ำที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือ มีพื้นที่ทั้งสิ้นรวม 34,908 ตารางกิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ประกอบด้วยลุ่มน้ำสาขา 16 ลุ่มน้ำ เช่น น้ำว้า น้ำปาด แม่วังทอง และแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุด เป็นต้น ที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเกิดขึ้นในลุ่มน้ำน่านค่อนข้างมาก แต่ยังขาดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำน่านตอนบนเหนือเขื่อนสิริกิติ์ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดน่านบ่อยครั้ง
ทั้งนี้ในปัจจุบันลุ่มน้ำน่านมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กรวมทั้งสิ้นกว่า 143 โครงการสามารถกักเก็บน้ำได้ 10,584 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นร้อยละ 87 ของปริมาณน้ำท่ารายปีทั้งลุ่มน้ำ
สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญๆของลุ่มน้ำน่าน เช่น เขื่อนสิริกิติ์ อำเภอท่าปลาจังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนนเรศวรซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำทางตอนล่าง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก ที่สามารถเก็บกักน้ำได้ 939ล้านลูกบาศก์เมตร และขณะนี้กรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยรี จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง สามารถเก็บน้ำได้ 73.7 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนั้นยังมีเขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ ดังนั้นปัญหาในเรื่องน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ในลุ่มน้ำน่านจึงไม่รุนแรงเหมือนลุ่มน้ำยมรวมทั้งยังสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
“การสัมมนาสัมมนาลุ่มน้ำยม-น่าน ในครั้งนี้กรมชลประทานหวังเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันหาแนวทางและดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นระบบ” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในตอนท้าย
>>>ที่มา http://www.rid.go.th/2009/index.php?option=com_content&view=article&catid=23%3A2009-12-21-08-25-31&id=753%3A2011-08-31-05-04-22&Itemid=54