ค้นหาบล็อกนี้

วิธีพิทักษ์ รักษ์โลกของเรา

"เราทำได้ คุณก็ทำได้"
ลดปริมาณขยะ
ลดการใช้พลังงาน
เพิ่มอ๊อกซิเจนให้กับน้ำ
รักษาพันธุ์สัตว์ป่า

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

กรมชลประทาน ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ จัดสัมมนาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน

กรมชลประทานร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ จัดสัมมนาครั้งใหญ่ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำยม-น่านให้เห็นผลเป็นรูปธรรม หวังได้แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำในระยะเร่งด่วน พร้อมกำหนดทิศทางดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นระบบ
นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะได้ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งเกิดจากการที่ประเทศไทยมีฝนตกหนักจากพายุนกเต็นมีผลทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่นั้น ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่11 สิงหาคม และ 16 สิงหาคม 2554 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเกิดอุทกภัยซ้ำซากและการบริหารจัดการลุ่มน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้เร่งศึกษาทบทวนโครงการที่สามารถดำเนินการได้ในระยะเร่งด่วน


กรมชลประทานจึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลในด้านต่างๆ ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน รวมทั้งประชาชนที่ร่วมสัมมนากว่า 400 คน ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบันของทั้งสองลุ่มน้ำ อาทิ สภาพปัญหา โครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆที่กรมชลประทานได้ดำเนินการในระยะที่ผ่านมา ตลอดจนแผนงานยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน รวมทั้งรับทราบความต้องการและปัญหาต่างๆของทั้ง 2 ลุ่มน้ำ เพื่อกำหนดทิศทางร่วมกันในการพัฒนาลุ่มน้ำยม-น่านที่ถูกต้องและเหมาะสม และร่วมกำหนดแผนงานการพัฒนาและบริหารจัดการในระยะเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำ
สำหรับลุ่มน้ำยม มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาผีปันน้ำ อำเภอปง จังหวัดพะเยา ไหลผ่านจังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร แล้วไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่จังหวัดนครสวรรค์ รวมความยาวตลอดลำน้ำประมาณ 735 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมด 23,616 ตารางกิโลเมตร มีลุ่มน้ำย่อย 11 ลุ่มน้ำ คือแม่น้ำยมตอนบน แม่น้ำควร น้ำปี้ แม่น้ำงาว แม่น้ำยมตอนกลาง แม่คำมี แม่ต้า ห้วยแม่สิน แม่มอก แม่รำพัน และแม่น้ำยมตอนล่าง
อย่างไรก็ตามด้วยลักษณะของลำน้ำยมที่เป็นคอขวดและไหลคดเคี้ยวไปมา รวมทั้งมีสภาพตื้นเขิน ทำให้การระบายน้ำไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะในช่วงตอนปลายของลุ่มน้ำ เมื่อมีฝนตกหนักจึงทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากสร้างความเสียหายอย่างมากแทบทุกปี ในขณะเดียวกันพอถึงฤดูแล้งก็จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน ปัจจุบันในพื้นที่ลุ่มน้ำยมมีการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยการก่อสร้างฝายปิดกั้นลำน้ำ และมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก แก้มลิงและโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเฉพาะในลำน้ำสาขาของลุ่มน้ำยมเท่านั้น ซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำยมจนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 741 โครงการแต่สามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 406 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำท่าทั้งลุ่มน้ำที่มีมากถึง 4,100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ส่วนโครงการพัฒนาลุ่มน้ำยมนั้น ได้มีการศึกษาและวางแผนไว้ทั้งการพัฒนาโดยมาตรการไม่ใช้สิ่งปลูกสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำระบบเตือนภัย การปรับปรุงประสิทธิภาพการชลประทาน การผันน้ำหลาก การขุดลอกลำน้ำธรรมชาติ และการพัฒนาโดยมาตรการสิ่งก่อสร้าง เช่น ได้มีการพัฒนาพื้นที่รองรับน้ำและแก้มลิง 118 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร พัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดกลางจำนวนทั้งสิ้น 34 โครงการ สามารถเก็บน้ำได้ 348 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า ในส่วนของลุ่มน้ำน่านนั้นเป็นลุ่มน้ำที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือ มีพื้นที่ทั้งสิ้นรวม 34,908 ตารางกิโลเมตร ไหลผ่านจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ประกอบด้วยลุ่มน้ำสาขา 16 ลุ่มน้ำ เช่น น้ำว้า น้ำปาด แม่วังทอง และแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุด เป็นต้น ที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเกิดขึ้นในลุ่มน้ำน่านค่อนข้างมาก แต่ยังขาดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำน่านตอนบนเหนือเขื่อนสิริกิติ์ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดน่านบ่อยครั้ง
ทั้งนี้ในปัจจุบันลุ่มน้ำน่านมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กรวมทั้งสิ้นกว่า 143 โครงการสามารถกักเก็บน้ำได้ 10,584 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นร้อยละ 87 ของปริมาณน้ำท่ารายปีทั้งลุ่มน้ำ
สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญๆของลุ่มน้ำน่าน เช่น เขื่อนสิริกิติ์ อำเภอท่าปลาจังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนนเรศวรซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำทางตอนล่าง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก ที่สามารถเก็บกักน้ำได้ 939ล้านลูกบาศก์เมตร และขณะนี้กรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยรี จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง สามารถเก็บน้ำได้ 73.7 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนั้นยังมีเขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ ดังนั้นปัญหาในเรื่องน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ในลุ่มน้ำน่านจึงไม่รุนแรงเหมือนลุ่มน้ำยมรวมทั้งยังสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
“การสัมมนาสัมมนาลุ่มน้ำยม-น่าน ในครั้งนี้กรมชลประทานหวังเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันหาแนวทางและดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นระบบ” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในตอนท้าย
>>>ที่มา http://www.rid.go.th/2009/index.php?option=com_content&view=article&catid=23%3A2009-12-21-08-25-31&id=753%3A2011-08-31-05-04-22&Itemid=54

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น