ค้นหาบล็อกนี้

วิธีพิทักษ์ รักษ์โลกของเรา

"เราทำได้ คุณก็ทำได้"
ลดปริมาณขยะ
ลดการใช้พลังงาน
เพิ่มอ๊อกซิเจนให้กับน้ำ
รักษาพันธุ์สัตว์ป่า

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

'โซลาร์ ฟาร์ม’ ขุมทรัพย์ใหม่ในตลาดพลังงานไทย

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญในเรื่องของพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องการนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า และพลังงานที่น่าจับตามมองที่สุดในตอนนี้ก็คงเป็น ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ เพราะหากพิจารณาดูแล้วก็เรียกว่าเป็นพลังงานที่เกื้อกูลธรรมชาติแทบจะที่สุด

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซล่าร์ ฟาร์ม จึงค่อยๆ ผุดราวดอกเห็ดไปทั่วทุกทวีป ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่ดูเหมาะเจาะไปเสียหมดทั้งเรื่องแสงอาทิตย์อัดเจิดจ้าในยามกลางวัน และภูมิทัศน์แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เอื้อกับโรงไฟฟ้าประเภทนี้อย่างยิ่ง ด้านนโยบายพลังงานของไทยเองก็สนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกด้วยการให้เงินอุดหนุน บวกกับนโยบายที่ให้การไฟฟ้าฯ รับซื้อพลังงานอย่างไม่จำกัด

ซึ่งในปัจจุบันมีเอกชนที่เสนอขายไฟฟ้าต่อ กฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) แล้วกว่า 5,051.0 เมกะวัตต์ ในขณะที่เป้าหมายตามที่รัฐกำหนดไว้ในปี 2565 อยู่ที่ 5,604.0 เมกะวัตต์

นักลงทุนภาคเอกชนเองจึงมองเห็นขุมทรัพย์ในตลาดพลังงาน คลอดโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก อาทิ โครงการโซลาร์ฟาร์ม โคราช 1 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่สุดในอาเซียน ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ที่ทุ่มทุนกว่า 700 ล้าน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ร่วม 3 หมื่นแผง มีกำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ และเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ เมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมา โดยโกยรายเฉลี่ยวันละกว่า 4.3 แสนบาท ฯลฯ

อีกหนึ่งโครงการยักษ์ที่ไม่เอ่ยถึงคงจะไม่ได้ โครงการลพบุรี โซล่าร์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กำลังผลิต 73 เมกะวัตต์ ในจังหวัดลพบุรี ของบริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ที่มีมูลค่ากว่า8,000 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนว่าสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างก็ให้ความเชื่อมั่นในธุรกิจพลังงานประเภทนี้อยู่ไม่น้อย เพราะเดินหน้าสนับสนุนวงเงินกู้อย่างเต็มกำลังเช่นกัน

โซล่าร์ ฟาร์ม ในต่างแดน

ดวงอาทิตย์นั้นเป็นแหล่งรวมความร้อนขนาดมหึมา แม้จะอยู่ไกลนับล้านๆ กิโลเมตรก็ยังสัมผัสได้ถึง จึงไม่แปลกที่บรรดานักวิทยาศาสตร์หัวใส ต่างก็หวังจะนำพลังงานตรงนี้มาแปรสภาพเป็นกระแสไฟฟ้า ถึงแม้พลังงานชนิดนี้จะให้ผลที่ดีเกินคาด แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาสำคัญอย่างเรื่องต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูงได้



อย่างไรก็ตาม หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้นโดยเฉพาะ 3 ประเทศมหาอำนาจอย่าง สเปน เยอรมนี และจีน ที่ดูจะจริงจังและเริ่มต่อยอดกับเรื่องนี้มากที่สุด ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 สเปนก็ได้เปิดตัวโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โรงไฟฟ้าเยมาโซลาร์ ที่สามารถผลิตไฟฟ้าในเวลากลางคืนเป็นแห่งแรกของโลก โดยใช้ระบบผลิตไฟฟ้าแบบหอพลังงาน ติดตั้งแผงพีวีเป็นแนวทรงกลมรวม 2,650 แผง ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,156 ไร่ โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 110 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ใน 25,000 ครัวเรือน

เช่นเดียวกับที่เยอรมนีก็มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งอยู่ในเมืองอาร์นสตีน ซึ่งอยู่ในหุบเขาและผลิตกระแสไฟฟ้าในลักษณะฟาร์มไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 12 เมกะวัตต์ สามารถป้อนไฟฟ้าหล่อเลี้ยงประชากรได้สูงถึง 900,000 คนเลยทีเดียว

หรือที่จีนมีโครงการจะสร้างโรงงานที่เมืองตงหวง มณฑลกานซู ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 31,000 ตารางเมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 100 เมกะวัตต์ โดยทุ่มเงินมากกว่า 30,640 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างเป็นเวลา 5 ปี โดยแว่วข่าวมาว่ารัฐบาลจีนจะใช้โรงไฟฟ้าตัวนี้เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าที่จะผลิตต่อไปทั่วประเทศ และต่อไปก็จะขยายธุรกิจด้วยการพลังงานไฟฟ้าไปยังต่างประเทศอีกด้วย

ความน่าจะเป็นในประเทศไทย

เมื่อหันกลับมามองทิศทางของพลังงานทดแทนชนิดนี้ในประเทศไทยก็ดูเหมือนว่าจะมีการตอบรับที่ดีไม่น้อย ทั้งภาครัฐก็มีนโยบายอุดหนุนพลังงานอย่างต่อเนื่อง ภาคประชาชนเองก็ไม่ได้มีการคัดค้านต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สุดท้ายรูปธรรมที่จับต้องได้ของมันก็กลายเป็นการร่วมทุนในภาคเอกชน

ดร. เดชรัตน์ สุขกําเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น อย่างแรกคือมีความเหมาะสมทางด้านทรัพยากร แม้ดวงอาทิตย์ไม่ได้มีแสงสว่างตลอดเวลา แต่ก็ถือว่าประเทศไทยมีความเหมาะสมกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับหนึ่ง

ด้านแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (Power Development Plan : PDP2010) ก็มีการกำหนดสัดส่วนของพลังงานทดแทนไว้ที่ร้อยละ 8.0 ซึ่งก็เอื้อให้กับธุรกิจพลังงานประเภทนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการลงทุนในเรื่องของพลังงานทดแทนก็ส่งผลให้ภาครัฐเกิดการชะลอตัวในการสร้างโรงไฟฟ้าไปได้ระยะหนึ่ง






“ตอนนี้พลังงานหมุนเวียนจะทำให้เขาลดการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าไปได้จำนวนหนึ่ง ถ้าถามว่าไม่มีพลังงานทดแทนแล้วเรายังเดินหน้าต่อได้ไหม...ได้ครับ พลังงานเราเพียงพอ ไม่ได้ขาด แต่ว่าการมีพลังงานทดแทนมันลดความจำเป็นในการสร้างเพิ่มขึ้น”

ทิศทางของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้นตลอด ด้านกระทรวงพลังงานเองก็สนับสนุนเงินทดแทน นโยบายของรัฐบาลเองก็พร้อมรับซื้อพลังงานจากเอกชนทั้งหมด ทิศทางของพลังงานชนิดนี้คงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หากรัฐบาลยังให้การสนับสนุนต่อภาคธุรกิจที่เข้ามาลงทุนทางด้านพลังงาน

ทั้งนี้ ดร. เดชรัตน์ ทิ้งท้ายในเรื่องแผนยุทธศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีว่า ควรกำหนดข้อตกลงการซื้อขายพลังงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมายังมีความหละหลวมกลายเป็นช่องทางฉกฉวยประโยชน์ต่อธุรกิจพลังงานของเอกชน อาทิ การออกใบอนุญาตซื้อขายพลังงาน แต่ถ้าเอกชนไม่สามารถทำตามสัญญาได้ก็ไม่ต้องถูกดำเนินการอะไร เพียงแต่ต้องแจ้งให้รัฐทราบล่วงหน้าเท่านั้น

ด้านสถาบันการเงินรายใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย ก็ร่วมเป็นหัวหอกในการปล่อยกู้เพื่อลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์ นพเดช กรรณสูต ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจลูกค้าบรรษัท ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงปัจจัยทางด้านความเชื่อมั่นในการคืนทุนของธุรกิจพลังงานทดแทนว่า

“เรามองถึงการจัดโครงสร้างธุรกิจก่อน อย่างโครงสร้างของพลังงานแสงอาทิตย์มันมีส่วนประกอบที่สำคัญในเกณฑ์พิจารณาการปล่อยกู้ ไม่ว่าจะเป็น หนึ่ง-การพิจารณาทางด้านผู้ลงทุนก่อน เราจะต้องดูก่อนว่าผู้ลงทุนเองมีความตั้งใจในการลงทุนมากน้อยแค่ไหน และในส่วนของทักษะความเข้าใจเรื่องของธุรกิจ แล้วก็พิจารณาเรื่องความพร้อมของแหล่งเงินทุนมากแค่ไหน สอง-พิจารณาว่าเคยมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในต่างประเทศมาก่อนรึเปล่า หรือดูว่ามีการทำสัญญาการซื้อขายไฟกับภาครัฐไหม กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือเปล่า สุดท้ายคือดูว่าคนที่มารับเหมาก่อสร้างโครงการมีความเชื่อถือได้แค่ไหน ซึ่งทุกข้อมันอยู่ในมาตรฐานสากลอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้เราก็มีความสามารถมั่นใจได้ว่าธุรกิจพลังงานฯ สามารถที่จะคืนทุนได้”

แสงอาทิตย์ พลังงานทดแทนที่มาพร้อมเงิน

“คนทั่วไปในระดับประชาชนของประเทศเรายังไม่ตื่นตัวด้านพลังงานทางเลือก ซึ่งก็มีอยู่บ้างแต่ไม่มาก ประเด็นต่อมาถ้าเป็นในระดับผู้ประกอบการนั้นก็ตื่นตัวเพราะอยากได้ตังค์ การทำระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อขายไฟฟ้านั้น เรื่องนี้เขาทำกันมานานแล้วเป็นการทำเพื่อกำไร เขาไม่ได้มองเรื่องของพลังงานสะอาดเป็นอย่างแรกแต่มองเรื่องผลกำไรมากกว่า”

นันท์ ภักดี ตัวแทนจากอาศรมพลังงาน (สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม) กล่าวถึงอีกแง่มุมของการพลังงานทางเลือกเรื่องพลังงานทางเลือกในประเทศไทย ทั้งนี้ยังโต้แย้งถึงเรื่องค่าใช้จ่ายของระบบพลังงานแสงอาทิตย์ว่า แท้จริงแล้วไม่ได้สูงอย่างที่ทราบกัน

“ตอนนี้ที่จีนนั้น อุปกรณ์ในการนำมาใช้ทำระบบ ขายกันอยู่ที่วัตต์ละเหรียญหรือประมาณ 30 กว่าบาท แต่ในบ้านเราอุปกรณ์พวกนี้ขายกันวัตต์ละเป็นร้อยเลย ต่างกัน 3 เท่า เรี่องแบบนี้มันมีความซับซ้อนอยู่สูงเสียจนเราไม่สนใจมันด้วย”

นันท์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าทุกคนถูกหล่อหลอมว่าจะต้องทำไฟขายให้กับการไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งการไฟฟ้าก็เอาไปขายให้กับครัวเรือนอยู่ดี ดังนั้นมันก็แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนสามารถทำไฟใช้เองได้ แต่ไม่มีใครพูดเพราะสังคมไทยมองเรื่องผลประโยชน์เป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามหากมองในภาพรวมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นถือเป็นเรื่องที่ดี ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขามูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นเป็นพลังงานที่สะอาดซึ่งมนุษย์ได้รับมาฟรีๆ แต่กลับยังไม่ได้นำมาใช้งานอย่างเต็มที่ และยังขาดการบริหารจัดการที่ดีพอของการใช้พลังงานหมุนเวียน เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนนั้นเป็นภาพใหญ่ ไม่ควรมองเฉพาะแค่พลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น

“พลังงานแสงอาทิตย์นั้นน่าใช้อยู่แล้วแต่มันก็มีข้อจำกัดอะไรหลายๆ อย่างในตัวมันเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะมองแยกส่วนไปเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ต้องมองเป็นภาพใหญ่ พิจารณาดูว่าศักยภาพของพื้นที่ที่เราตั้งอยู่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานประเภทไหน อย่างบ้านเรามีแสงแดดมาก มีชีวมวล ซึ่งสามารถนำมาแปลงเป็นพลังงาน แต่ก็ต้องมาดูว่าจะมีวิธีจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”

ดร.สรณรัชฎ์ทิ้งท้ายว่า การใช้พลังงานธรรมชาตินั้น ประชาชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิต โดยภาครัฐจะต้องมีการผลักดันในเชิงเศรษฐกิจเพื่อจูงใจและส่งเสริมให้ประชาชนหันมาผลิตและใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น

“อย่างที่สเปนมีเป็นกฎหมายเลยว่าทุกบ้านจะต้องมีแผงโซล่าเซลล์ซึ่งการที่จะออกมาเป็นกฎหมายได้ก็ต้องมีการไปคิดระบบเศรษฐกิจที่จะมาสร้างแรงจูงใจและมาช่วยเหลือคนได้”



ก็ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วทิศทางของพลังงานทดแทนจะเพียงพอต่อความต้องการของมวลมนุษยชาติหรือไม่ แต่ถ้ามองภาพปัจจุบันการลงทุนในเรื่องพลังงานทดแทนผ่านโรงงานพลังแสงอาทิตย์ในเมืองไทยนั้น ได้กลายเป็นขุมทรัพย์ให้เหล่าภาคเอกชนเข้ามาลงทุนกันได้อย่างเสรีไปเรียบร้อยแล้ว...

ที่มา>>http://green.in.th/node/2566

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น