ค้นหาบล็อกนี้

วิธีพิทักษ์ รักษ์โลกของเรา

"เราทำได้ คุณก็ทำได้"
ลดปริมาณขยะ
ลดการใช้พลังงาน
เพิ่มอ๊อกซิเจนให้กับน้ำ
รักษาพันธุ์สัตว์ป่า

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เสียงจากคนรักผีเสื้อ ก่อนราชินีแห่งแมลงสูญพันธุ์


"ถ้าถามว่าดูผีเสื้อไปทำไม นอกจากฝึกเรื่องความอดทนและทำให้จิตใจผ่อนคลายจากสีสันสวยงาม ผมคิดว่าความสวยงามของผีเสื้อเป็นกุศโลบายให้คนรักธรรมชาติ เพราะผีเสื้อเป็นดัชนีบอกความอุดมสมบูรณ์ธรรมชาติ วงจรชีวิตพวกมันผูกพันกับดอกไม้ และต้นไม้ ถ้าเราพบผีเสื้อมาก บ่งชี้ได้ว่าป่าไม้บริเวณนั้นสมบูรณ์ ถ้ารักผีเสื้อต้องช่วยกันอนุรักษ์ป่า เวลานี้ผีเสื้อหายาก ลดจำนวนลงมาก บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้ว ขอไว้ทุกข์ให้ผีเสื้อสมิงเชียงดาวของไทยด้วย เชื่อว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ความสวยงามและความหายากของเขา ทำให้เป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก" สินธุยศ จันทรสาขา สมาคมรักษ์ปางสีดา เล่าถึงการส่งเสริมการชมผีเสื้อหลังมีกระแสอนุรักษ์ผีเสื้อตามผืนป่า
ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญผีเสื้อ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และส่งเสริมผีเสื้อล้อมวงกันในงานเสวนาวิชาการเรื่อง "แนวทางการอนุรักษ์และส่งเสริมกิจกรรมชมผีเสื้อในประเทศไทย" ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อแสวงหาลู่ทางสร้างเครือข่ายอนุรักษ์ผีเสื้อให้เข้มแข็ง และขอให้สงวนรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของผีเสื้อในพื้นที่อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตลอดจนแหล่งพืชอาหารอื่นๆ เนื่องจากผีเสื้อเริ่มมีแนวโน้มลดลงในพื้นที่ป่าหลายแห่งและหลายชนิดที่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์
สุพร พลพันธ์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ป่าแก่งกระจานมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงตั้งแต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจนถึงผีเสื้อ โดยเฉพาะผีเสื้อมีมากกว่า 284 ชนิด อาทิ ตาลหางแหลมธรรมดา ใบไม้เล็ก เหลืองหนามใหญ่โคนปีกดำ เหลืองหนามธรรมดา หางดาบธรรมดา ฯลฯ แต่ไม่ครอบคลุมพื้นที่ป่าลึกยังไม่ได้สำรวจ หากมีการศึกษาคาดว่าจะพบชนิดพันธุ์เพิ่มเติม โดยบริเวณบ้านกร่างและพะเนินทุ่งเป็นแหล่งที่พบผีเสื้อหลากหลายชนิดพันธุ์ ปัญหาในเวลานี้คือขาดบุคลากรที่มีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผีเสื้อ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ เป็นผู้ศึกษา การเก็บตัวอย่างใช้วิธีการถ่ายภาพในภาคสนาม ไม่ต้องเก็บตัวอย่างผีเสื้อมาศึกษา ในอนาคตจะมีโครงการ "พิพิธภัณฑ์ผีเสื้อ" โดยปรับศูนย์พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติบ้านกร่าง จัดแสดงเรื่องของผีเสื้อที่น่าสนใจ "เดิมจะพบเห็นผีเสื้อบินเป็นสายยาว ปัจจุบันบินเป็นกลุ่มๆ ถ้าเทียบประชากรในอดีตจำนวนลดน้อยลง ที่ผ่านมาสร้างแหล่งอาหารและที่อยู่ให้ผีเสื้อ โดยเฉพาะสร้างโป่งเทียมที่ผีเสื้อชอบ ช่วยดึงผีเสื้อเข้าใช้พื้นที่อุทยาน มีการโซนนิ่งพื้นที่ชมผีเสื้อเพื่อลดผลกระทบ มีเขตสงวนปลอดนักท่องเที่ยว เพื่อคุ้มครองผีเสื้อหายาก อย่างผีเสื้อถุงทองป่าสูงและผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว นอกเหนือจากนี้จำกัดช่วงเวลาในการเข้าชมแหล่งผีเสื้อเป็นรอบๆ เพื่อจำกัดจำนวนคน ถนนวังวน-พะเนินทุ่งที่ผ่านขึ้น เขามีป้ายเตือนขับรถด้วยความระมัดระวัง ลดจำนวนผีเสื้อที่ถูกรถชนตาย" สุพร อธิบายถึงการอนุรักษ์ผีเสื้อในเขตอุทยานฯ
ด้านแก้ว ดอนคำ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว กล่าวว่า ที่ปางสีดามีผีเสื้อมากกว่า 400 ชนิด ช่วงฤดูฝนมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาดูผีเสื้อหลายพันธุ์จำนวนมากที่ลานหิน โดยเฉพาะบริเวณน้ำตกปางสีดา และน้ำตกหินตาด แต่ผีเสื้อกลุ่มใหญ่เริ่มจำนวนลดลง เพราะสภาพธรรมชาติเปลี่ยนแปลง แหล่งอาหารของผีเสื้อก็ลดลง นอกจากนี้ การที่มีนักท่องเที่ยวมาชมผีเสื้อจำนวนมาก นำพาหนะเข้ามาในพื้นที่อุทยานฯ เชื่อว่าควันรถ เสียง และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมีผลกระทบต่อวงจรชีวิตผีเสื้อ บางคนเดินออกนอกเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เหยียบย่ำไข่ ตัวหนอนผีเสื้อ นอกเขตอุทยานฯ ก็ใช้สารเคมีเข้มข้นในพื้นที่เกษตร และบุกรุกแผ้วถางทำลายป่า ขยายพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัส ทำให้แหล่งอาหารผีเสื้อลดลง หนอนแมลงก็ไม่กินใบยูคาฯ ด้วย น้ำใต้ดินก็ถูกดูดไปเลี้ยงเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้น้ำตามธรรมชาติเหือดแห้ง ใบไม้ต้นไม้บนเขาก็เหี่ยวเฉา ทั้งหมดกระทบถิ่นที่อยู่อาศัยของผีเสื้อ ไม่รวมผีเสื้อที่ต้องสังเวยกลุ่มคนลักลอบเก็บตัวอย่างไปขายนักสะสมต่างแดน ในการอนุรักษ์นอกเหนือจากปลูกพืชอาหาร อาทิ ต้นรัก ต้นหนอน ต้นคูน ต้นขี้เหล็ก เพื่อเพิ่มปริมาณผีเสื้อให้มากขึ้นแล้ว ยังเร่งสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังร่วมกันในพื้นที่ 5 จังหวัด กระตุ้นให้เยาวชนร่วมมือด้วย ซึ่งเป็นการให้ความรู้ด้านผีเสื้อ รวมทั้งสัตว์อื่น แล้วก็มีมัคคุเทศก์น้อยนำนักท่องเที่ยวชมผีเสื้อ เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ป้องกันผลกระทบต่อระบบนิเวศ
ขณะที่พิชา พิทยขจรวุฒิ ที่ปรึกษาสมาคมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว เห็นผีเสื้อฝูงมหึมาบินมาอวดโฉมให้เห็นที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ตามเส้นทางโชคชัย-เดชอุดมที่ผ่านพื้นที่อุทยานใหม่ๆ เป็นความประทับใจไม่ลืม อยากเห็นผีเสื้อสวยงามมากมายอย่างนั้นอีก ทำยังไงจะได้เห็นอีก เราพบว่าแหล่งผีเสื้อที่มีคนนิยมไปดู วันนี้ปริมาณผีเสื้อลดลง ถูกรบกวนจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และแหล่งอาหารโดนทำลาย รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนก็ส่งผลกระทบ ประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ผีเสื้อหลากหลาย ผีเสื้อหนอนกระท้อนที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาก็มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อผีเสื้อลดจำนวนลง สิ่งที่จะตามมาคือ งานผสมเกสรดอกไม้เกิดผลไม้นานาชนิดหายไป ตัวอ่อนผีเสื้อที่กำจัดแมลงศัตรูพืชก็หายไป ห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติกระทบ มันเป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะนกและแมลงต่างๆ โอกาสเยี่ยมชมศึกษาธรรมชาติของผีเสื้อก็หมดไป ทำยังไงจะลดผลกระทบต่อธรรมชาติในแหล่งผีเสื้อให้เหลือน้อยที่สุด
สำหรับแผนปฏิบัติการอนุรักษ์ที่จะก่อให้เกิดฝูงผีเสื้อบินมาสู่พื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่สวนสาธารณะในเมืองนั้น ที่ปรึกษาสมาคมอุทยานแห่งชาติเสนอว่า ต้องสร้างแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของผีเสื้อให้สมบูรณ์ เช่น สร้างโป่งผีเสื้อ ปรับปรุงโป่งผีเสื้อ ส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงผีเสื้ออย่างจริงจังบนพื้นฐานงานศึกษาวิจัย สร้างความชื้นในอากาศและดินตามแหล่งอาศัยผีเสื้อให้เพิ่มขึ้น โดยการปลูกพืชอาหารของผีเสื้อและของหนอนผีเสื้อ ตลอดจนรักษาความสมบูรณ์ของป่าเขา มองว่าต้องมีการศึกษาลึกถึงวงจรชีวิตของผีเสื้อและแหล่งอาหารของผีเสื้อ ความหนาแน่นของจำนวนประชากร และจำนวนพันธุ์ นอกจากจากศึกษาด้านอนุกรมวิธาน โดยกำหนดเขตศึกษาวิจัยในพื้นที่อุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์ฯพร้อมมีระเบียบการศึกษาวิจัยเรื่องผีเสื้อที่เหมาะสม งานวิจัยจะได้ไม่กระทบสภาพที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของผีเสื้อตามธรรมชาติ
ในการเสวนาครั้งนี้ที่จัดโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่ประชุมเสนอให้จัดทำโครงการ "ปากประตูสู่อุทยานแห่งชาติ" ร่วมมือกันจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น อุทยานผีเสื้อและแมลง กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ปทุมธานี และอุทยานแห่งชาติที่กระจายในภูมิภาคต่างๆตลอดจนเสนอให้มีการจัดทำเอกสารเผยแพร่ทางวิชาการเฉพาะเรื่อง เช่น วารสารเกี่ยวกับการศึกษาผีเสื้อ และจัดนิทรรศการเคลื่อนที่เรื่องผีเสื้อ กระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจเรื่องของผีเสื้อเพิ่มขึ้น พร้อมกับส่งเสริมให้จัดกิจกรรมชมผีเสื้อกับกลุ่มคนทุกระดับ นอกจากนี้จะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เป็นช่องทางประสานงานร่วมกันในอนาคต ต้องติดตามโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การอนุรักษ์ผีเสื้อราชินีแห่งแมลง จึงเป็นวาระสำคัญของชาติที่จะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้ทุกคนสนใจ ช่วยกันอนุรักษ์หวงแหนสิ่งแวดล้อม และรักษาป่าเขาลำเนาไพร ให้ผีเสื้อสวยงามได้อาศัยขยายพันธุ์และให้ความสุขแก่ผู้พบเห็น
>>>>ที่มา http://www.thaipost.net/sunday/260611/40741

1 ความคิดเห็น:

  1. เปลี่ยนพื้นหลังดีไหมจ๊ะ
    ครูมองไม่เห็นเลยนะ ..ครูเอง

    ตอบลบ