ค้นหาบล็อกนี้

วิธีพิทักษ์ รักษ์โลกของเรา

"เราทำได้ คุณก็ทำได้"
ลดปริมาณขยะ
ลดการใช้พลังงาน
เพิ่มอ๊อกซิเจนให้กับน้ำ
รักษาพันธุ์สัตว์ป่า

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หมอดินดีเด่นเมืองพะเยา ยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่

เมื่อก่อน นายผล มีศรี หมอดินอาสาประจำ อ.ภูซาง จ.พะเยา ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว โดยปลูกข้าวไร่ ข้าวโพดสลับกันไปในแต่ละปี และมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีจำนวนมาก โดยไม่ได้อนุรักษ์และปรับปรุงบำรุงดินส่งผลให้หน้าดินเสีย ดินเกิดความเสื่อมโทรม ผลผลิตก็ไม่ดี จึงคิดว่า ถ้าปลูกเชิงเดี่ยวต่อไปไม่ไหวแน่...ประจวบเหมาะที่ในช่วงปี 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เขาจึง

เข้าร่วมโครงการกับกรมพัฒนาที่ดิน โดยยึดแนวทางการทำการเกษตรแบบผสมผสานและพึ่งพาตนเองเป็นหลัก นายผล เล่าว่า ในปีเดียวกันจึงได้สมัครเข้าไปเป็นหมอดินอาสากับสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา ซึ่งก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สารขับไล่แมลงจากผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.ของกรมพัฒนาที่ดิน ตลอดจนวิธีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชปุ๋ยสด ปูนโดโลไมท์ หญ้าแฝก ซึ่งตนก็ได้นำความรู้ที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดิน ทั้งจากการไปศึกษาดูงานในที่ต่าง ๆ ตลอดจนนำมาประยุกต์กับภูมิปัญญาของตนเอง จนกระทั่งสามารถวางแผนปรับ ปรุงพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินประจำตำบลภูซางของกรมพัฒนาที่ดิน


สำหรับรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เขานำหลักการพัฒนาที่ดินมาใช้ จะแบ่งตามความเหมาะสมของที่ดิน และสภาพพื้นที่ ได้แก่ ดินเหนียวที่ลุ่มจะทำการปลูกข้าวนาดำ ดินทรายที่ดอนจะปลูกไม้ผล ได้แก่ ลำไย ส่วนดินลูกรังที่ดอนจะปลูกยางพารา นอกจากนี้ ยังแบ่งพื้นที่เพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และทำคอกสัตว์ทั้งสุกร เป็ด ไก่ โค กระบือ

ช่วงแรกก็ทำนาแต่ด้วยลักษณะดินที่ความอุดมสมบูรณ์ต่ำและราคาผลผลิตตกต่ำจึงเปลี่ยนมาปลูกยางพาราแทน นอกจากนี้ ยังได้ขยายการปลูกยางพาราในสวนลำไย เพราะเล็งเห็นว่าลำไยสามารถให้ผลผลิตได้เพียงไม่นานอีกทั้งราคาตกต่ำตลอด แต่ยางพาราสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 9 เดือนใน 1 ปี แถมราคาดีด้วย เนื่องจากขณะนี้ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท แต่ถ้าเราขายได้ในราคาที่กิโลกรัมละ 50 บาทเราก็อยู่ได้แล้ว

มิหนำซ้ำเราปลูกพืชตระกูลถั่วในสวนเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดให้พืชได้นำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่กับทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ที่มาจากวัสดุในแปลงไม่ว่าจะเป็นเศษไม้ยางพารา ใบลำไย มูลสัตว์มาหมักกับสารเร่ง พด.1 เพียง 60-90 วันก็จะได้ปุ๋ยไว้ใช้บำรุงต้นบำรุงรากยิ่งทำให้ผลผลิตดีขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการปลูกด้วยวิธีนี้จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพอยู่ในเกรดเอ ทั้งลำไยและยางพารา จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

>>>>ที่มา http://www.en.mahidol.ac.th/thai/news/envi_news_full.php?id=1072

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น