ค้นหาบล็อกนี้

วิธีพิทักษ์ รักษ์โลกของเรา

"เราทำได้ คุณก็ทำได้"
ลดปริมาณขยะ
ลดการใช้พลังงาน
เพิ่มอ๊อกซิเจนให้กับน้ำ
รักษาพันธุ์สัตว์ป่า

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ของจุดน้ำจืดสูงสุด (Peak Water)

วิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ของจุดน้ำจืดสูงสุด (Peak Water)
สฤณี อาชวานันทกุล


ในวิถีการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ผ่านมากว่า 200 ปี คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า วิชาเศรษฐศาสตร์มีส่วน “ทำบาป” ทางทฤษฎีและวิถีปฏิบัติไม่น้อยเลย แต่บาปหลายประการซึ่งนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักควรจะยอมรับและไถ่บาปอย่างเร่งด่วน เพราะมันสร้างความเสียหายและทำให้รัฐทั่วโลกดำเนินนโยบายผิดพลาดอย่างต่อเนื่อง มีรากมาจากความเข้าใจผิดสองข้อเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ

ความเข้าใจผิดข้อแรกคือ การมองไม่เห็นว่า “ทุนทางสังคม” และกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนสามารถมีประสิทธิภาพดีได้ และในหลายกรณีมีประสิทธิภาพดีกว่าการตัดแบ่งทรัพยากรให้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลหรือให้รัฐจัดการควบคุมด้วยซ้ำไป (ประเด็นนี้ เอลินอร์ ออสตรอม นักเศรษฐศาสตร์สำนักสถาบันใหม่ (new institutional economics) เจ้าของรางวัลโนเบลปี 2009 อธิบายอย่างแจ่มชัดในงานของเธอ ผู้เขียนจะหยิบมาเล่าสู่กันฟังต่อไป)

ความเข้าใจผิดข้อสองคือ การมองไม่เห็น “ขีดจำกัด” ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทรัพยากรที่มีวันหมด (ธรรมชาติไม่สร้างใหม่แล้ว) อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล และทรัพยากรที่ธรรมชาติสร้างใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่มนุษย์กำลังตักตวงหรือผลาญอย่างรวดเร็วเกินอัตราการฟื้นฟูของธรรมชาติ อาทิ อากาศบริสุทธิ์ แหล่งประมงในทะเลหลายแห่ง และแหล่งน้ำจืด


เมื่อพูดถึงน้ำจืด คำว่า “จุดน้ำจืดสูงสุด” (peak water) เพิ่งได้รับการประดิษฐ์เมื่อไม่นานมานี้เอง คำอธิบายที่ชัดที่สุดคือคำอธิบายของ ปีเตอร์ กลีก (Peter Gleick) และ มีนา พาลาเนียบพัน (Meena Palaniappan) ในบทความซึ่งได้รับการตีพิมพ์ปี ค.ศ. 2010 ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เรื่อง “Peak water limits to freshwater withdrawal and use” (“จุดน้ำจืดสูงสุดของการตักตวงและใช้น้ำจืด”)


คำว่า “จุดน้ำจืดสูงสุด” อาจทำให้หลายคนประหลาดใจ เป็นไปได้อย่างไรที่น้ำจืดจะหมด? ในเมื่อธรรมชาติมี “วัฏจักรของอุทกวิทยา” หรือเรียกสั้นๆ ว่า วัฏจักรน้ำ ซึ่งทุกคนต้องเรียนตั้งแต่เด็ก แต่กลีกและพาลาเนียบพันยืนยันว่า เราอาจเข้าสู่ “จุดน้ำจืดสูงสุด” ได้จริง เพราะในหลายพื้นที่เรากำลังใช้น้ำในปริมาณและอัตราที่เร็วกว่าการฟื้นฟูของวัฏจักรน้ำในธรรมชาติ

ก่อนอื่นพวกเขาเท้าความว่า ภาวะขาดแคลนน้ำกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในหลายภูมิภาคทั่วโลก (อ่านมุมมองและข้อเสนอของนักสิ่งแวดล้อมบางส่วนได้ใน “วิกฤตน้ำและทางออก : ข้อคิดจาก เลสเตอร์ บราวน์”) เสร็จแล้วกลีกและพาลาเนียบพันก็สรุปเรื่อง “จุดผลิตน้ำมันสูงสุด” (Peak Oil) และเปรียบเทียบกับจุดน้ำจืดสูงสุดเพื่อให้เราเห็นภาพชัดขึ้น ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างน้ำกับน้ำมัน (นอกจากว่ามันเข้ากันไม่ได้) คือ น้ำมันมีจำกัด หมดแล้วหมดเลย ส่วนน้ำอาจมีจำกัดเฉพาะในระดับท้องถิ่น ในระดับโลกอาจมีไม่จำกัดถ้าหากเราลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำจืดใหม่ๆ แต่ในทางกลับกัน น้ำมันในฐานะแหล่งพลังงานมีสิ่งที่ใช้ทดแทนได้มากมาย อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ แต่ไม่มีอะไรที่สามารถทดแทนน้ำได้ กลีกและพาลาเนียบพันสรุปความแตกต่างระหว่างน้ำกับน้ำมันเป็นตารางต่อไปนี้


จุดน้ำจืดสูงสุดนั้นคล้ายกันกับจุดผลิตน้ำมันสูงสุดในแง่ที่ว่า ขณะที่เราเข้าใกล้มัน เราต้องเลือกว่าจะตอบสนองต่อความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไร ทางแรกคือหาทางลดความต้องการใช้น้ำลง (เช่น รณรงค์หรือบังคับให้คนประหยัดน้ำ) ทางที่สองคือเปลี่ยนวิธีใช้น้ำ เปลี่ยนจากการใช้มูลค่าต่ำไปสู่การใช้ที่มีมูลค่าทางสังคมหรือเศรษฐกิจสูงกว่า ทางที่สามคือย้ายความต้องการไปสู่บริเวณที่มีน้ำเหลือเฟือ ทางที่สี่คือลงทุนเพิ่ม เช่น ขนส่งน้ำมาจากที่อื่น หรือลงทุนในน้ำทะเลซึ่งมีไม่จำกัด เช่น แยกเกลือออกจากน้ำทะเล (desalination) ให้คนบริโภคได้ กระบวนการนี้มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้วในหลายพื้นที่ อาทิ ซาอุดิอาระเบีย อิสราเอล สิงคโปร์ และบางประเทศในทะเลคาริบเบียน

พูดง่ายๆ คือ มนุษย์ย่อมตักตวงแหล่งน้ำซึ่งมีต้นทุนถูกก่อน พอถึงจุดคุ้มทุนสูงสุดก็ต้องเปลี่ยนไปใช้แหล่งน้ำที่แพงกว่าเดิม เช่น แยกเกลือออกจากน้ำ เพื่อตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นน้ำก็จะขาดแคลน ปริมาณน้ำที่ผลิตได้จึงมีลักษณะเป็น “ขั้นบันได” ดังรูปด้านล่างนี้


กลีกและพาลาเนียบพันอธิบายว่า น้ำเป็นทรัพยากรที่ทั้งทดแทนได้และไม่ได้ มันทดแทนได้ในแง่ที่ไหลเวียนและเปลี่ยนรูปได้อย่างรวดเร็ว (flow) การใช้น้ำของมนุษย์ปกติไม่มีผลต่ออัตราการฟื้นฟูของวัฏจักรน้ำในธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม น้ำก็ทดแทนไม่ได้เหมือนกันในแง่ที่มันสะสมเป็น “คลัง” (stock) ใต้ดินในระดับท้องถิ่น น้ำใต้ดินท้องถิ่นคล้ายกันกับน้ำมัน ตรงที่อัตราการสูบขึ้นมาใช้ของมนุษย์นั้นรวดเร็วกว่าอัตราการฟื้นฟูของชั้นหินอุ้มน้ำ (นักวิทยาศาสตร์มักจะเรียกชั้นหินนี้ว่า ชั้นหิน “ฟอสซิล” เพราะมันฟื้นฟูช้ามาก)


การสูบน้ำบาดาลเกินกำลังการฟื้นฟูของธรรมชาติอาจส่งผลกว้างไกลกว่าภาวะขาดแคลนน้ำ นักวิจัยในอินเดียกลุ่มหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้พบว่า อินเดียใช้น้ำมหาศาลจากการสูบน้ำบาดาลที่ทดแทนไม่ได้ และน้ำเหล่านั้นก็ไปลงเอยในทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแต่ระดับน้ำใต้ดินลดลงอย่างฮวบฮาบ ทั้งหมดนี้ยังไม่นับว่าภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะซ้ำเติมให้ภาวะขาดแคลนน้ำเลวร้ายลงอีกมากในอนาคต

ถึงที่สุดแล้ว แนวคิด “จุดน้ำจืดสูงสุด” ไม่ได้ตอบคำถามว่า น้ำจืดจะ “หมด” เมื่อไร แต่เป็นคำเตือนให้เราตระหนักว่า บนดาวเคราะห์สีฟ้าของเราดวงนี้ มีน้ำเพียงร้อยละ 3.5 ของน้ำทั้งโลกเท่านั้นที่เป็นน้ำจืด และในจำนวนนี้มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เราใช้ได้ – ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า เรากำลังจะมองเห็นขีดจำกัดที่ชัดเจนของความต้องการใช้น้ำในหลายพื้นที่ทั่วโลก และ “การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กหรือไร้สาระอีกต่อไปแล้ว

ที่มา>>http://www.greenworld.or.th/columnist/ecosaveworld/1381

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น