ค้นหาบล็อกนี้

วิธีพิทักษ์ รักษ์โลกของเรา

"เราทำได้ คุณก็ทำได้"
ลดปริมาณขยะ
ลดการใช้พลังงาน
เพิ่มอ๊อกซิเจนให้กับน้ำ
รักษาพันธุ์สัตว์ป่า

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สูดโอโซน ดีจริงหรือ?

สูดโอโซน ดีจริงหรือ?
เรื่อง เฟื่องฟ้า


พอถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ หลายคนมักติดปากว่าอยากไปเที่ยวพักผ่อนต่างจังหวัดเพื่อสูดโอโซน ทว่าการพูดเช่นนั้นแสดงว่าคุณยังไม่รู้จักโอโซนดีพอ

ความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ว่านี้อาจเป็นเพราะโมเลกุลของโอโซนประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม คนทั่วไปเลยคิดเป็นตุเป็นตะเอาเองว่าออกซิเจนยิ่งมากก็ยิ่งหมายถึงอากาศบริสุทธิ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอโซนมีทั้งที่ดีและไม่ดี

โอโซนที่ดีจะอยู่ในระดับความสูงเหนือพื้นดินมากกว่า 40 กิโลเมตรขึ้นไป โดยเฉพาะในชั้นสตราโทสเฟียร์ ส่วนโอโซนที่ไม่ดีคือโอโซนที่อยู่เหนือระดับพื้นดินไม่เกิน 2 กิโลเมตร เพราะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา จมูก คอ และหากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากก็อาจเป็นอันตรายต่อปอดและเสียชีวิตได้ สิ่งที่ก่อให้เกิดโอโซนในระดับต่ำ ก็เช่น ควันของรถยนต์ เป็นต้น

สำหรับโอโซนที่ดีจะทำหน้าที่กั้นรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดบี (UVB) ซึ่งมีความยาวคลื่น 280-320 นาโนเมตร ส่องมายังโลกในปริมาณที่มากจนเกินไป เนื่องจากเจ้ารังสี UVB นี้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีผลทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ต้อเนื้อ ต้อลม ส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์ เช่น ทำให้พืชแคระแกร็น รวมทั้งยังทำให้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เปราะและหักพังเร็วขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่โลกสีฟ้าของเราใบนี้กำลังเผชิญอยู่ก็คือ รูรั่วโอโซน ส่งผลให้รังสี UVB ส่องผ่านมายังผิวโลกได้มากขึ้น จากการสำรวจโดยเครื่องบิน บอลลูน และดาวเทียม ตลอดจนข้อมูลขององค์การนาซา และ National Oceanic Atmospheric Administration (NOAA) ในปลายปี ค.ศ. 1970 พบว่า โอโซนในอวกาศมีแนวโน้มลดลงมาตลอด

หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1986 มีนักวิทยาศาสตร์ที่สำรวจโอโซนในช่วงฤดูใบไม้ผลิบริเวณซีกโลกใต้เหนือทวีปแอนตาร์กติกด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ด็อบสันสเปคโตรโฟโตมิเตอร์ (Dobson Spectrophotometer) พบว่า ปริมาณโอโซนลดลงเหลือเพียง 88 DU (Dobson Unit) ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 220 DU

สาเหตุที่ชั้นโอโซนถูกทำลาย เกิดจากสารพวกฮาโลคาร์บอน (Halocarbon) ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่มีส่วนประกอบของธาตุคลอรีน ฟลูออรีน โบรมีน คาร์บอน และไฮโดรเจน โดยสารที่เป็นตัวการสำคัญๆ เช่น คลอโรฟลูออโรคาร์บอนหรือ CFC ฮาลอน คาร์บอนเตตระคลอไรด์ เมธิลคลอโรฟอร์ม ซึ่งสารเหล่านี้นิยมใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยปัจจุบันมีความพยายามพัฒนาสารทดแทนที่เป็นมิตรกับโอโซนขึ้นมาใช้แทน และหวังว่าการสูญเสียโอโซนจะหมดไปในอนาคต

"แต่ไปเที่ยวทะเลหรือดงดอยคราวหน้า คงไม่มีใครปรารถนาไปสูดโอโซนอีกแล้วนะ"

ที่มา>>http://www.greenworld.or.th/greenworld/population/1344

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น