ค้นหาบล็อกนี้

วิธีพิทักษ์ รักษ์โลกของเรา

"เราทำได้ คุณก็ทำได้"
ลดปริมาณขยะ
ลดการใช้พลังงาน
เพิ่มอ๊อกซิเจนให้กับน้ำ
รักษาพันธุ์สัตว์ป่า

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ขอบเขตพื้นที่ของพืชเศรษฐกิจนามว่า “ยางพารา”


ท่ามกลางยุคสมัยที่นับวันมีแต่จะให้ความสำคัญกับวิถีแห่งเงินตรา จน(เกือบ)ทุกสิ่งสามารถแลกเปลี่ยนได้ด้วยเงิน จะแปลกอะไรถ้าชาวบ้านทุกสาขาอาชีพจะก้มหน้าก้มตาสะสมให้มากเข้าไว้ เพราะนั่นอาจหมายถึงหนึ่งในหลักประกันความมั่นคงของชีวิตพวกเขา

ไม่เว้นแม้กระทั่งอาชีพที่สามารถเชื่อมโยงการอยู่-กินได้อย่างตรงไปตรงมาอย่าง “เกษตรกร”

ในเมื่อพืชผัก-ผลไม้สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้เพียงกิโลกรัมละหลักสิบ มิหนำซ้ำวันดีคืนดีบางชนิดยังต้องเจอกับราคาที่ดิ่งลงไปเป็นหลักหน่วยอย่างยากอธิบาย ทางเลือกใหม่อย่างการปลูก “ยางพารา” พืชที่เมื่อโตแล้วสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ถึงหลักร้อย จึงได้รับความสนใจจาก “เกษตรกร” ในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

ใครบ้างจะไม่อยากรวย ใครบ้างจะไม่อยากเป็น “เศรษฐีสวนยาง” ?

พืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณแถบลุ่มน้ำอเมซอน ประเทศบราซิล อย่าง “ยางพารา” สันนิษฐานว่าเริ่มต้นเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกราวปี 2444 โดยบิดาแห่งยางพาราไทยนามว่า พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) สมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ท่านได้เมล็ดพันธ์มาจากประเทศมาเลเซีย และลงมือปลูกยังผืนดินของประเทศไทยครั้งแรกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

ผลสำเร็จของการปลูกยางพาราเริ่มเด่นชัดแก่ชาวตรังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราว 3-4 ปี เนื่องจากเป็นยุคที่ราคาดีดตัวสูงขึ้นมาก การปลูกยางพาราจึงสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก

ต่อมาในปี 2451 หลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) ได้นำพันธุ์ยางไปปลูกยังภาคตะวันออกเป็นครั้งแรกที่จังหวัดจันทบุรี จนกระทั่ง “ยางพารา” ได้แพร่หลายออกไปยังพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งค่อยๆ กระจายไปยังพื้นที่อื่นของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง

ในปี 2521 มีการเริ่มปลูกยางอย่างจริงจังที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการที่กรมวิชาการเกษตรและกรมประชาสงเคราะห์ได้ทดลองปลูกที่จังหวัดหนองคาย บุรีรัมย์ และสุรินทร์ จนเมื่อประสบผลสำเร็จ จึงมีการส่งเสริมให้มีการปลูกยางพาราในพื้นที่ดังกล่าวอย่างจริงจัง กระทั่งปี 2545 พื้นที่ปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ขยายเป็น 19 จังหวัด รวมเนื้อที่กว่า 4 แสนไร่

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปลูก “ยางพารา” ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นก็คือ เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวหลายสิบปี และยังมีราคาผลผลิตที่สูงเป็นพิเศษ


ปี 2538-2539 ราคายางพาราเพิ่มสูงเกิน 30 บาทต่อกิโลกรัมเป็นครั้งแรก และลดลงต่ำกว่า 30 บาทอีกครั้ง ก่อนที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา จนกระทั่งปี 2553 ก็ทะลุ 100 บาทต่อกิโลกรัมในที่สุด และเมื่อไม่นานมานี้ ราคายางพาราในประเทศไทยก็ทะยานสูงเกือบสองร้อยบาทต่อกิโลกรัม (ราคาจากตลาดกลางหาดใหญ่ 7 เมษายน 2554 ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 173.29 บาทต่อกิโลกรัม และยางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่ 169 บาทต่อกิโลกรัม)

ตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งวันนี้ ปริมาณ “สวนยาง” ของประเทศไทยมีแนวโน้มแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยมีเพียง 12.95 ล้านไร่ในปี 2547 ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนเป็น 17.96 ล้านไร่ในปี 2553 เป็นรองแค่อินโดนีเซียเพียงประเทศเดียวที่มีพื้นที่นำมาเป็นอับดับหนึ่งที่ 21.47 ล้านไร่ในปี 2553

ทั้งๆ ที่ปริมาณ “สวนยาง” ของประเทศไทยจะน้อยกว่าอินโดนีเซียอยู่ราว 4 ล้านไร่ แต่การผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 979 พันตันในปี 2531 จนมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกตั้งแต่ปี 2534 ในจำนวน 1,341 พันตัน และ 3,072 พันตันในปี 2553 ส่วนอินโดนีเซียมีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 2,892 พันตันในปี 2553 ซึ่งน้อยกว่าประเทศไทยอยู่พอสมควร

ปัจจุบัน เราสามารถพบ “สวนยางพารา” ได้เกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย ข้อมูลจากสถาบันวิจัยยางบอกว่าทุกวันนี้มีจังหวัดที่ปลูกยางพาราแล้วมากกว่า 65 จังหวัด

หากแนวโน้มราคาของยางพารามีแต่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คงไม่แปลกอะไรที่เกษตรกรจำนวนมากจะให้ความสนใจ ยุติบทบาทวิถีเกษตรแบบกินได้ และเลือกให้ความสำคัญกับพืชพรรณราคาสูง

“ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ก็เดี๋ยวกรีดยางเอาน้ำยางไปขาย แล้วค่อยเอาเงินนั้นไปซื้ออาหารก็ได้” ทั้งที่สวนยางของเธอเพิ่งเจอกับเหตุการณ์ดินถล่มมาหมาดๆ หญิงเจ้าของสวนที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ยังพูดยิ้มๆ เมื่อเราถามติดตลกว่าปลูกแต่ยางเยอะแบบนี้ แล้วเวลาหิวๆ จะกินอะไรเหรอ

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตนักวิชาการป่าไม้ระดับ 7 กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็นว่า ภาวะที่พลังงานฟอซซิลขาดแคลน ส่งผลให้พืชพลังงานต่างๆ ทั้งปาล์ม อ้อย มันสำปะลัง รวมทั้ง “ยางพารา” กลายเป็นพืชที่มีผลผลิตที่ให้ผลตอบแทนสูง การขยายพื้นที่ปลูกจึงมีแต่จะสูงขึ้น อีกทั้งความ “ล้มเหลว” ของเกษตรแบบผสมผสานในวงกว้าง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการสร้างเนื้อสร้างตัวให้มั่งมี แค่พอมีพอกินยังลำบาก ทั้งจากภาวะราคาตลาดผันผวน ต้นทุนสูงจากปัจจัยการผลิต ฯลฯ เมื่อปลูกผลไม้ก็ขาดทุน ทำนาก็ไร้กำไร สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ พื้นที่เหล่านั้นไม่น้อยจึงปักหมุดใหม่ และฝากความหวังไว้ที่ “ยางพารา”

“การปลูกยางพารามันมีธุรกิจเกี่ยวข้องเยอะ ตั้งแต่ทำโรงงานการแปรรูปยางพาราแบบต่างๆ ไปจนกระทั่งผลิตกล้าขาย มันก็เกิดเป็นห่วงโซ่ทางธุรกิจ แล้วนักการเมืองบางคนเองก็มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจเหล่านั้น ในทุกๆ รัฐบาลจึงสนับสนุนจนเป็นเรื่องปกติในสังคม” อาจารย์เพิ่มศักดิ์ชี้ให้เห็นถึงโยงใยที่เกี่ยวเนื่อง

ประเทศไทยเคยมีแผนพัฒนาที่เกี่ยวกับยางพารา 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราครบวงจร (2542-2546) 2.ยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก ตามแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี (2548-2551) กลุ่มสงขลา-สตูล 3.การปรับโครงสร้างยางและผลิตภัณฑ์ยาง 2549-2551 และ 4.ยุทธศาสตร์การพัฒนายาง พ.ศ. 2552-2556

รศ.ดร. สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล จากคณะเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า แผนพัฒนาทั้ง 4 แผนไม่ปรากฏแนวทางพัฒนายางพาราในระดับต้นน้ำ หรือในระดับพื้นที่ที่ตั้งสวนยาง นั่นอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการขยายการปลูกออกไปยังพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมาก

ประเทศไทยมีการบุกรุกพื้นที่ป่าไปปลูก “ยางพารา” เป็นจำนวนมาก หลายพื้นที่ในเขตป่าเขาหรือป่าต้นน้ำมีการรุกขึ้นไปจนถึงระดับที่สูงชันมาก อาทิเช่น

- อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า พื้นที่รอยต่อจังหวัดพัทลุง ตรัง และนครศรีธรรมราช จากพื้นที่ทั้งหมดราว 433,750 ไร่ แต่มีการเข้าไปปลูกยางพาราแล้วถึง 122,587 ไร่

- เขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าเขาหลง อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ก็เต็มไปด้วยพื้นที่สวนยางพาราจำนวนมาก

- การปลูกยางพาราในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 ของลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา โดยลุ่มน้ำชั้น 1 ที่มี 123,399 ไร่ ถูกบุกรุกเข้าไปแล้ว 37,389 ไร่ ขณะที่ลุ่มน้ำชั้น 2 ที่มี 127,206 ไร่ ก็ถูกบุกรุกไปแล้ว 74,269 ไร่

- การลดลงของพื้นที่ป่าในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จากที่ปี 2528 มีป่าไม้ปกคลุมอยู่ประมาณ 1,173,000 ไร่ แต่เมื่อปี 2545 เหลือพื้นที่ป่าเพียง 658,000 ไร่เท่านั้น การลดลงของพื้นที่ป่าดังกล่าวส่วนใหญ่น่าจะถูกทดแทนด้วยการปลูกยางพารานั่นเอง

จากเอกสาร “ทำไมจึงไม่ควรปลูกยางพาราบนพื้นที่ต้นน้ำ” โดยพงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล และพิณทิพย์ ธิติโรจนะวัฒน์ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานตามหน้าที่จากระบบนิเวศต้นน้ำ ไปเป็นระบบนิเวศยางพารา ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงจากระดับสูง โดยมีค่าคะแนนความหลากหลายทางชีวภาพ 49.60 มาเป็นระดับค่อนข้างต่ำ โดยมีคะแนนความหลากหลายทางชีวภาพเพียง 19.71 เท่านั้น

ขณะที่นานวันไป การปลูก “ยางพารา” ในทุกภูมิภาคของประเทศ มีแต่จะดันกรอบของคำว่า “สมดุล” ในเชิงพื้นที่ให้กว้างมากขึ้น โดยมีรายได้ที่สูงลิ่วมาเป็นสิ่งตอบแทน คำถามก็คือ พื้นที่ที่ไม่เหมาะสำหรับปลูกยางพารามีหน้าตาอย่างไร

ระวี ถาวร จากศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แสดงความเห็นว่า พื้นที่ไม่เหมาะสำหรับปลูกยางพาราแบ่งกว้างๆ ได้แก่

พื้นที่ที่ลาดชันมาก มีโครงสร้างดินที่เปราะบาง เพราะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดดินถล่ม สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังที่พบในภาคใต้อยู่ทุกๆ ปี ยิ่งเมื่อในอนาคตมีแนวโน้มพฤติกรรมของฝนที่เปลี่ยนมาตกปริมาณมากๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ ยิ่งทวีความเสี่ยงต่อดินถล่มที่จะรุนแรงมากขึ้น

พื้นที่ผลิตอาหาร ปัจจุบันการขยายตัวของพืชพลังงานทั้งปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง และ “ยางพารา” โดยมีปัจจัยจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นทุกปี ชาวบ้านบางพื้นที่ถึงกับเปลี่ยนที่นาทั้งแปลงมาปลูกยางพารา ไม่มีการปลูกข้าวกินเอง โดยหวังรายได้จากการขายผลผลิตยางพารา ส่งผลให้ชาวบ้านมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหาร และเมื่อพื้นที่เพาะปลูกพืชกินได้ลดลง ในอนาคตราคาอาหารก็จะสูงขึ้นตามมา

ระวี แสดงความเห็นต่อไปว่า หากมีการปลูกบนพื้นที่ลาดชัน สิ่งที่ควรทำก็คือ รูปแบบการปลูกแบบผสมผสานเพื่อสร้างความหลากหลาย เช่น ปลูกพืชแซมยางพารา ทั้งพืชอาหาร พืชป้องกันการพังทลายของหน้าดินที่มีหลากหลายระดับ ทั้งเรือนยอด และเรือนราก ไม่ควรทำแปลงติดกันเป็นผืนใหญ่ ควรเว้นแถบป่าธรรมชาติ หรือสร้างแถบป่าวนเกษตรที่ปลูกไม้ป่าที่มีระบบรากลึกกั้นเป็นแถบเป็นระยะตามเส้นระดับความสูง และควรปล่อยพื้นที่ป่าริมลำห้วยอย่างน้อย 5 เมตรสองฝั่ง ริมฝั่งน้ำเองก็ไม่ควรปลูกยางพาราจนชิด เพื่อลดการพังทลายของฝั่งน้ำ ในพื้นที่ลาดชัน ควรปลูกยางหลากหลายชั้นอายุ เพราะเมื่อยางพาราหมดอายุและตัดออกไป จะได้ไม่เกิดเป็นพื้นที่โล่งขนาดใหญ่

“การปลูกพืชเชิงเดี่ยวแต่เพียงอย่างเดียวไม่ว่าชนิดไหนก็ตาม โดยไม่ปลูกพืชอาหาร พืชผัก เลี้ยงสัตว์เป็นแหล่งโปรตีน เป็นการสร้างความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารให้แก่ตนเอง” ระวี แสดงความเห็น

เขามองว่า รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมปลูกยางพาราโดยพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ป่าธรรมชาติที่มีความเสี่ยงต่อการบุกรุก พื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ จัดทำโซนนิ่งพื้นที่ที่เหมาะสม ให้ข้อมูลความเสี่ยงและผลกระทบแก่ชาวบ้าน และสร้างการมีส่วนร่วมในท้องถิ่นในการดูแล เช่น พัฒนาเป็นป่าชุมชน ผนวกเป็นพื้นที่คุ้มครองเพื่อลดความเสี่ยงของการบุกรุกพื้นที่จากทั้งนายทุนและชาวบ้าน นอกจากนี้ รัฐบาลเองก็ควรมีมาตรการคุ้มครอง และสร้างแรงจูงใจในการรักษาพื้นที่เกษตรกรรมอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ส่วนอาจารย์เพิ่มศักดิ์ มองว่า ตัวเกษตรกรเองก็มีข้อจำกัดในการคิดภาพใหญ่ เกษตรกรที่รวมกลุ่มก็มักจะมองแต่ประโยชน์ระยะสั้น มองการขายกล้า ได้กำไรจากการส่งยาง แม้การทำ “โซนนิ่ง” จะเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ก็เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากอยู่พอสมควร เพราะในทางปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายยังคาดประสิทธิภาพ มีอำนาจเงิน อำนาจอิทธิพล ในสถานการณ์จริงจึงยังไม่เกิดขึ้นเท่าใดนัก ที่สำคัญการบุกรุกที่ในระยะหลัง ชาวบ้านก็เป็นเพียงลูกจ้างไปกรีดยาง ขนส่งออกไปขายเท่านั้น ส่วนมากของที่ดินในปัจจุบันทั้งที่มีกรรมสิทธิ์และบุกรุก ล้วนเป็นของนายทุน นักการเมือง นักธุรกิจ และข้าราชการทั้งสิ้น

“ทางออกก็คือต้องบังคับใช้กฎหมายให้เด็ดขาด ที่ดินที่บุกเบิกไปยังพื้นที่ป่า ไปยังพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ใครไปครอบครอง เราก็ต้องเอาคืนกลับมา ไม่ต้องมีข้อยกเว้น มันก็ต้องเอามาสังคายนากัน มาปฏิรูปที่ดิน คนที่ถือครองมากๆ ก็กระจายออกมาให้ทั่วถึงและเป็นธรรม คนที่ไปบุกรุกอย่างผิดกฎหมายเขาก็ผิดจริงๆ เราก็ต้องให้เขามีที่ทำกิน คนเราถ้าไม่มีที่อาศัยที่ทำกิน ก็ต้องไปเป็นอาชญากรรม”

เมื่อถามว่าหากสิ่งที่เป็นอยู่ของสถานการณ์ “ยางพารา” ดำเนินไปอย่างขาดการรู้เท่าทัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคืออะไร ?

“ขณะนี้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสูงมากแล้ว ทั้งดินถล่ม น้ำท่วม สูญเสียหน้าดิน สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ฉะนั้นปัญหาเรื่องฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมันชัดเจนแล้ว

“เรื่องแบบนี้คงต้องใช้การศึกษาสะท้อนให้สังคมจัดการ ที่มันเป็นอย่างนี้ก็เพราะชุมชนและท้อนถิ่นไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากร มันยันไม่อยู่ พอไปติดที่เจ้าหน้าที่ มันก็จบ ดังนั้น ก็ต้องเอาอำนาจรัฐออกมา ให้ท้องถิ่นได้มีอำนาจในการจัดการทรัพยากร มีส่วนร่วมกับรัฐ มันก็จะดูแลกันได้มากขึ้น ในแง่การทำลายป่า มันก็จะมีคนโวยมากขึ้น มีหูมีตามากขึ้น” อาจารย์เพิ่มศักดิ์เสนอทางออก
>>>>ที่มา http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/1353

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น